GIZ เปิดตัวโครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรไทยให้พร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดตัวโครงการมูลค่าสี่ล้านยูโร หรือราว 150 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรรายย่อยของไทยและภูมิภาคอาเซียนให้เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่จำเป็นต่อการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในภาคเกษตร
โครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการทางการเงินเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region:Agri-Climate Risk Financing) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการในระดับภูมิภาคผ่านแผนกอาหาร เกษตรและป่าไม้ ของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (The ASEAN Secretariat) คณะทำงานด้านพืชของอาเซียน (ASEAN Sectoral Working Group on Crops: ASWGC) และระดับประเทศในอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม
โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 – ธันวาคม พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้กับเกษตรกร พร้อมเสริมศักยภาพของเกษตรกรทั้งชายและหญิงในการปรับตัวและรับมือต่อปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรที่ยั่งยืนของไทย
“โครงการนี้จะทำให้เราสามารถดำเนินกิจกรรมใหม่ ๆ กับหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภาคการเกษตร การเงิน ไปจนถึงเกษตรกรในแต่ละพื้นที่“ ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร GIZ ประเทศไทย กล่าวภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อโครงการฯ
นางประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภาคการเกษตรยังคงเป็นภาคส่วนสำคัญที่เป็นแหล่งรายได้ให้กับประชากรและมีมูลค่าสำคัญทางเศรษฐกิจในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลผลิตของภาคการเกษตรนั้นกำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง พายุ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
“รายงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรงในระยะยาวและจะส่งผลกระทบต่อผลผลิต ดังนั้น การสนับสนุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรของเราให้สามารถรับมือและปรับตัวต่อความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง“
ในระดับอาเซียน ได้มีการริเริ่มวิธีการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร โดยจัดทำคู่มือให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนด้านการพัฒนาโครงการประกันภัยพืชผล หรือที่เรียกว่า “10 Phases in Developing a National Crop Insurance Program: Guide Overview” ซึ่งได้รับการอนุมัติในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 เมื่อปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ ยังมีแผนยุทธศาสตร์ด้านพืชของอาเซียน ปี 2564 – 2568 ของคณะทำงานด้านพืชของอาเซียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการแผนนี้ ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เชิงกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติและภัยพิบัติอื่น ๆ
ในประเทศไทยมีการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการวิจัยและพัฒนา เพื่อดำเนินงานและปรับปรุงมาตรการที่จะช่วยเกษตรกรในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศด้วยเครื่องมือและบริการทางการเงิน ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างคือ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ที่ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรในหลายปีที่ผ่านมานี้ โดยผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการ กรมวิชาการเกษตร เชื่อว่าประเทศไทยยังสามารถพัฒนา และขยายเครื่องมือและบริการทางการเงินในรูปแบบอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของเกษตรกรและสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
นายจูเลียน ทอส์ท ผู้อำนวยการโครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการทางการเงินเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยเกษตรกรรายย่อยรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตยังมีอยู่จำกัด ดังนั้น GIZ จึงทำงานร่วมกับสถาบันทางการเงินผ่านโครงการนี้ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร พร้อมเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับภาคการเกษตรในการจัดการและรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้ความรู้ด้านการเงิน ผ่านกรอบกิจกรรมของโครงการในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย
– การส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินเพื่อให้เกษตรกรพร้อมรับมือและถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– การดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้เกษตรกรในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนทางสภาพภูมิอากาศ
– การเสริมสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเท่าเทียมสำหรับทุกคน
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย นักวิจัย นักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรสมาชิกโครงการที่ดำเนินงานโดย GIZ ประเทศไทยมากกว่า 70 ท่าน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมให้คำแนะนำและแนวทางในการดำเนินโครงการในประเทศไทยใน 3 หัวข้อคือ
1) ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกษตรกรทั้งชายและหญิงสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
การหารือกลุ่มได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีอยู่ในประเทศไทยเพื่อศึกษาภาพรวมและระดมความคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน กลไกการประกันภัยพืชผลที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและช่วยลดต้นทุนในระดับปฏิบัติการ
2) ความรู้ของเกษตรกรเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน และการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหัวข้อการเงินและความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร
เกษตรกรยังคงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงและไม่อาจคาดเดาได้ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรรายย่อยเพื่อรับมือและจัดการความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อย่างการประกันภัยพืชผล ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น
3) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรในการรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงและภัยพิบัติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มย่อยมีข้อเสนอแนะให้โครงการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทและความเป็นไปได้ในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคธุรกิจในการสนับสนุนภาคการเกษตร
คุณทอส์ทกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานจะนำข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการฯ โดยจะร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการนี้ให้บรรลุผล ซึ่งรวมถึงการพัฒนาการจัดการทางการเงินเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และคำแนะนำเชิงนโยบาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ในระยะยาวต่อไป