อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยร่วมผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานรัฐเป็นภาคบังคับ
- มาตรการบังคับให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยผลักดันให้ตลาดผลิตสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
- ปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมนโยบายภาคบังคับ ได้แก่ เป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจน กฎระเบียบที่เอื้ออำนวย และความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
- ตัวแทนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 60 คนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการผลักดันให้การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาครัฐเป็นภาคบังคับมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าภาครัฐในหลายประเทศมีนโยบายและมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มาตรการส่วนใหญ่เป็นไปตามความสมัครใจจึงทำให้การดำเนินงานและสร้างประโยชน์ในวงจำกัด หากภาครัฐซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีงบประมาณและปริมาณการจัดซื้อสูงมีนโยบายบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัว ผลิตสินค้าและบริการที่มีมาตรฐานสูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว เช่น ใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบจากแหล่งผลิตอย่างยั่งยืน ใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น และในที่สุดผู้บริโภคจะมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นในท้องตลาด ผ่านการรับรองด้วยฉลากสิ่งแวดล้อมและกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567 ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย รวม 60 คน เข้าร่วมสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ “การผลักดันมาตรการภาคบังคับสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาครัฐ” (Make Sustainable Public Procurement (SPP) Mandatory) ณ โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศในหัวข้อดังกล่าว
คุณสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเปิดงาน
“เราต่างมีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นภาคบังคับมากขึ้น” คุณสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในพิธีเปิด “ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศสำคัญต่อการเรียนรู้ และการร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยผลักดันและสร้างประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น”
ดร.อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าแผนก T III 2 ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
“ระยะแรกเยอรมนีดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบสมัครใจ และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการไปสู่ภาคบังคับมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่า การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนนอกจากเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย” ดร.อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าแผนก T III 2 ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) กล่าวในปาฐกถา
แอชเลย์ แมคเลนแนน นักวิจัยจากองค์กรด้านนิเวศวิทยาประยุกต์แห่งเยอรมนี (Öko-Institut) ย้ำถึงปัจจัยความสำเร็จและเงื่อนไขเบื้องต้นในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวว่า ต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รัฐบาลควรมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจน กฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างปรับให้ตอบสนองต่อนโยบาย เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างมีศักยภาพพร้อมต่อวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ตลาดมีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากเพียงพอที่จะรองรับความต้องการ มีมาตรการที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตได้ปรับตัวและยังคงให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด มีการเก็บและประเมินผลข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างฯ รวมถึงต้องสื่อสารประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวให้แก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย
ในงานสัมมนาครั้งนี้ แต่ละประเทศได้นำเสนอนโยบายและมาตรการบังคับให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และแลกเปลี่ยนแผนงานในอนาคตเพื่อพัฒนากลไกและมาตรการในการผลักดันอื่นๆ ซึ่งช่วยให้ทั้งสี่ประเทศได้ทบทวนสถานการณ์ปัจจุบันและเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพิจารณานำบางมาตรการไปปรับใช้กับบริบทของตัวเองอย่างเหมาะสม
ตัวแทนจากสี่ประเทศเข้าร่วมกิจกรรมแนะนำหน่วยงาน
เกี่ยวกับโครงการ Scaling SCP
โครงการ Scaling SCP project มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และรูปแบบการบริโภคที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศและมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อม โครงการได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2565 – ธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยมีอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยเป็นประเทศคู่ร่วมมือ
อัลบั้มภาพ
ไค ฮอฟมันน์
ผู้อำนวยการโครงการ Scaling SCP
อีเมล:kai.hofmann1(at)giz.de