CCMB – สส. จัดประชุมเจาะลึกเรื่อง “ความสูญเสียและความเสียหาย” เสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(จากซ้ายไปขวา) ผู้แทนจาก ADPC, UNDP, UNEP, DCCE, GIZ และสำนักงานสหประชาชาติเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (UNDRR)
วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567 – กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ภายใต้องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความสูญเสียและความเสียหายสำหรับประเทศไทย” ในวันที่ 1-2 เมษายน พ.ศ. 2567 ณ กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมฯ มุ่งสร้างพื้นฐานความรู้ด้านความสูญเสียและความเสียหาย และสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในประเด็นนี้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ ในประเทศไทย
ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage – L&D) เป็นประเด็นที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC COP) ตั้งแต่มีการริเริ่มเครือข่ายซันติอาโกในการประชุม COP27 และการจัดตั้งกองทุน L&D ในการประชุม COP28 เพื่อสนับสนุนประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ L&D เป็นแนวคิดในการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งความสูญเสียอย่างฉับพลันจากสภาวะอากาศสุดขั้ว (extreme weather events) และเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (slow onset events) ที่ได้รับการต่อยอดมาจากการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการคำนึงถึงทั้งความสูญเสียและความเสียหายที่สามารถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ รวมถึงความสูญเสียและความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินระดับของผลกระทบได้ชัดเจนมากขึ้น และนำไปสู่การเลือกมาตรการตอบรับได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าแนวคิดด้าน L&D จะยังมีพัฒนาการและการจำกัดความใหม่อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยสามารถนำแนวคิดนี้มาช่วยสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง และรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
การหารือเรื่องช่องว่างและความต้องการของประเทศไทยในหัวข้อ L&D
ความสำเร็จของการประชุมฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กรได้นำเสนอมิติต่าง ๆ ในหัวข้อ L&D เช่น
- คุณโมซาฮารูล อลาม ผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
- คุณแซนนี่ แฮกิโลส และคุณเอเลนน่า เซนเทียริ ผู้แทนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
- คุณเซนากา บาสนายาเก ผู้แทนจากศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC)
- ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ ผู้แทนจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์
- คุณจูเลี่ยน ทอสท์ คุณมาร์เลน่า เคียฟเฟิล และคุณศุภโชค จิตต์พิศาล ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
กิจกรรมกลุ่มเพื่อเรียนรู้หัวข้อ L&D ผ่านกรณีตัวอย่าง
นอกเหนือจากการให้ความรู้ในหัวข้อ L&D ในมิติต่าง ๆ ในวันแรกแล้ว ในวันที่สองของการประชุมยังมีผู้แทนหน่วยงานจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ร่วมเสวนาหารือบทบาท การดำเนินงานปัจจุบัน รวมถึงทิศทางในอนาคตสำหรับการดำเนินงานด้าน L&D ของประเทศไทย
เวทีเสวนา Loss and Damage ในประเทศไทย ความเชื่อมโยงปัจจุบันและทิศทางในอนาคต โดยผู้แทนจาก สส. ปภ. และ สศช.
คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้แทนจาก สส. ได้กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย สส. ได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ผลักดันการพัฒนาเครื่องมือและกลไกเพื่อลดความสูญเสียและความเสียหาย และเน้นย้ำว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยคือการประเมินความสูญเสียและความเสียหายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในพื้นที่ที่สำคัญ เพราะจะทำให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ได้ นอกจากนี้ คุณรัฐธิปัตย์ ปางวัชรากร ผู้แทนจาก ปภ. เสริมว่าการต่อยอดจากแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อพัฒนาวิธีการและระบบการประเมินความสูญเสียและความเสียหายโดยพิจารณาแบบองค์รวมที่เป็นมาตรฐานของประเทศ พัฒนาคู่มือมาตรฐานและศักยภาพของเครือข่าย จะช่วยให้มีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น สุดท้าย คุณณุชาดา เจริญพานิช ผู้แทนจาก สศช. ยังกล่าวว่าในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ควรคำนึงถึง ความสูญเสียและความเสียหายด้วย เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประกันภัย การเพิ่มศักยภาพและมาตรการเชิงป้องกันของชุมชนในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ จะตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ
การบรรยายจากผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองและบทสนทนาระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน L&D ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในประเทศ มีการริเริ่มหารือถึงช่องว่างทั้งด้านศักยภาพของบุคลากรและด้านเทคนิค การตอบสนองภายในประเทศที่เหมาะสม และการหารือเพื่อบูรณาการบทบาทระหว่างองค์กรเพื่อลด (minimize) และจัดการ (address) ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลลัพธ์จากการประชุมถือเป็นก้าวสำคัญในการริเริ่มการหารือด้าน L&D วางพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานและบูรณาการในขั้นต่อไปสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ GIZ จะดำเนินการพัฒนาและติดตามกรอบการดำเนินงานในด้าน L&D ในอนาคตต่อไป