เสริมศักยภาพวิศวกรชลประทานด้วยเทคนิคการนำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่
ภาพหมู่ของผู้เข้าร่วมอบรมในวันแรก
- GIZ ร่วมกับกรมชลประทาน จัดฝึกอบรมด้านเทคนิคให้ผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน ในหัวข้อการบูรณาการการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CRVA) เพื่อดำเนินมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA)
- ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้การใช้งาน Looker Studio ของ Google ซึ่งช่วยแสดงผลข้อมูลจากกระบวนการCRVA ที่ซับซ้อนให้ออกมาเป็นแผนที่ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้แม่นยำมากขึ้น
- ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานภายในกรมชลประทานในการฝึกอบรม CRVA ครั้งต่อไป เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล และส่งเสริมให้มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาทักษะการวางแผนโดยคำนึงถึงมิติภูมิอากาศ และถ่ายทอดความรู้ไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ
โดยปกติแล้ววิศวกรชลประทานมักประสบปัญหาในการนำเสนอข้อมูลน้ำที่ซับซ้อนจากเอกสารวิเคราะห์ตัวเลข การฝึกอบรมด้านเทคนิคและการปฏิบัติจริงเมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมหรรษนันท์ จังหวัดพิษณุโลก จึงมีเป้าหมายเพื่อแนะนำวิธีใช้เครื่องมือในการสร้างชุดนำเสนอข้อมูลซึ่งสามารถใช้งานง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่าย และช่วยในการวางแผนการจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี
การฝึกอบรมสองวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกอบรมเชิงเทคนิคขั้นสูงที่ออกแบบมาสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำ โดยเฉพาะวิศวกรชลประทาน โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 20 คนจากกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และตัวแทนผู้ใช้น้ำ การฝึกอบรมนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ดำเนินการภายใต้โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และกรมชลประทาน ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และการสนับสนุนทางวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถบูรณาการการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Vulnerability Assessment: CRVA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการดำเนินงานตามมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) ได้
โปรแกรมการฝึกอบรมได้รับความสนใจจากผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำเป็นอย่างมาก
หลังจากที่ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้แนวคิดหลักขององค์ประกอบ CRVA ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยอันตราย การเปิดรับต่อความเสี่ยง และความเปราะบาง ได้มีการนำเสนอ Looker Studio ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจาก Google Looker Studio นี้ช่วยให้วิศวกรชลประทานสามารถวิเคราะห์ค่าองค์ประกอบ CRVA ในมิติต่างๆ แล้วนำเสนอเป็นแผนที่ CRVA และค่าเฉลี่ยความเสี่ยงจากต่ำไปสูงในช่วงระดับ 0-1 ซึ่งช่วยในการระบุพื้นที่ที่ต้องการการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมหรือแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมทั้งการเลือกมาตรการปรับตัวที่เหมาะสมในเชิงพื้นที่ นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมในครั้งนี้จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำในกรมชลประทานต่อไป เพื่อประยุกต์ใช้กระบวนการ CRVA และการแสดงผลในการวางแผนข้อมูลความเสี่ยงสำหรับลุ่มน้ำที่คำนึงถึงมิติภูมิอากาศ และถ่ายทอดความรู้สู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ในอนาคต
คุณธีรพงษ์ บุญศัพท์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบระบบชลประทาน สำนักชลประทานที่ 3 สะท้อนสิ่งสำคัญที่ได้จากการฝึกอบรม
คุณธีรพงษ์ บุญศัพท์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบระบบชลประทาน สำนักชลประทานที่ 3 กล่าวว่า “ในการทำงาน ผมใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) แต่มักจะประสบปัญหาตอนนำเสนองาน โดยเฉพาะเวลามีงานด่วนที่ต้องปรับปรุงข้อมูล เพราะการแก้ไขงานแผนที่และงานข้อมูลของ GIS ไม่ค่อยยืดหยุ่น ในขณะที่ Looker Studio ผสมผสาน 3 โปรแกรมเข้าไว้ด้วยกันคือ PowerPoint แผนที่ (GIS) และข้อมูลใน Excel ไว้ในตัวเดียว จึงมีความยืดหยุ่นในการนำเสนอและสอดคล้องกับลักษณะงานของสำนักชลประทาน และยังแสดงผลการนำเสนอได้อย่างรวดเร็วและดูง่าย ผมจะนำเครื่องมือนี้ไปนำเสนอที่ส่วนวิศวกรรมต่อไป”
ทีมจากสำนักชลประทานที่ 3 ตั้งใจทำแบบฝึกหัด
การฝึกอบรมนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รู้จักเครื่องมือใหม่ แต่ยังช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำใช้ข้อมูลที่มีมาแสดงผลด้วยการสร้างภาพแผนที่ผ่านโปรแกรม Looker Studio เพื่อนำเสนอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลเป็นฐาน นอกจากนี้ผู้จัดยังชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลจะน่าสนใจและตอบโจทย์มากขึ้น หากวิศวกรชลประทานได้บูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งถือว่าโปรแกรมนี้ช่วยส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วนซึ่งจะช่วยในการวางแผนข้อมูลความเสี่ยงสำหรับลุ่มน้ำต่อไป
ผู้เข้าอบรมระดมสมองในการทำงานกลุ่มย่อย
การฝึกอบรมมีการนำเสนอภาพถ่ายดาวเทียมของแหล่งน้ำบนดินขนาดเล็กจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้หารือเกี่ยวกับหลักการในการตั้งเกณฑ์การคัดเลือกมาตรการ EbA เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่านตอนล่าง ครอบคลุมจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ต่อไป ซึ่งการผนวกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ากับข้อมูลจากชุมชนท้องถิ่นตลอดกระบวนการวางแผนและตัดสินใจคาดว่าจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับลุ่มน้ำได้อย่างแท้จริง
Gallery
ดร.นานา คึนเคล
ผู้อำนวยการโครงการ E-WMSA
อีเมล:nana.kuenkel(at)giz.de