ไทยร่วมนำเสนอผลงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในงานประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียนโลกที่เบลเยียม
- GIZ เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการในการจัดงานประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียนโลกปีนี้ พร้อมร่วมจัดอภิปรายกลุ่ม โดย GIZ ประจำประเทศไทย สนับสนุนสองผู้แทนไทยร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก
- ผู้แทนจากกรุงเทพมหานครนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ไปสู่การจัดการขยะที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเน้นที่การเริ่มต้นให้ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและส่งเสริมจุดเติมน้ำดื่มสาธารณะ
- ขณะที่ผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อภิปรายถึงนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรปที่ส่งผลต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นที่บทบาทของไทยในกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน
งานประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียนโลก ประจำปี พ.ศ. 2567 หรือ World Circular Economy Forum (WCEF) 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 เมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นงานสำคัญระดับโลกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยปีนี้ผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คนได้มารวมตัวกันในห้องประชุมทั้ง 4 ห้อง รวมถึงผู้เข้าร่วมงานแบบออนไลน์อีกราว 10,000 คน เพื่อร่วมผลักดันวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่การปฏิบัติจริง โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ได้ร่วมจัดการอภิปรายแบบกลุ่มตามเนื้อหา (Thematic panel discussions) และจัดช่วงพูดคุยย่อยด้านการพัฒนาและเตรียมความพร้อม (Accelerator session) รวมถึงเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะผู้แทนจาก 23 ประเทศ เพื่อร่วมเป็นกระบอกเสียงในการประชุมระดับโลก โดยผู้แทนจากประเทศไทยได้นำเสนอผลงานด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับการประชุมหลัก โครงการต่างๆ ของ GIZ ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ดร.วงศ์ สก (Dr. Vong Sok) ผู้อำนวยการกองสิ่งแวดล้อม สำนักเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวถึงขอบเขตของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ในขณะที่คุณชานทัล มารีย์นิสเซน (Chantal Marijnissen) หัวหน้าหน่วยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนในแผนกความร่วมมือระหว่างประเทศ (DG INTPA) ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีของสหภาพยุโรปในการจัดทำมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สอดคล้องกัน โดยตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และไทย ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของแต่ละประเทศในการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ CE และนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-Labeling) การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะที่ยั่งยืน และมาตรฐานการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (D4R)
การอภิปรายเน้นไปที่การผสานความร่วมมือภายในอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในช่วงท้าย ดร.วงศ์ สก ได้ย้ำถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละประเทศในการตอบสนองต่อระบบหมุนเวียน (Circularity) รวมถึงการค้า ประสิทธิภาพของทรัพยากร และมิติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม
ในนาม GIZ ประจำประเทศไทย โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมระดับโลกของ GIZ ที่มีชื่อว่า “Export Initiative Environmental Protection” โดยร่วมมือกับโครงการการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล (MA-RE-DESIGN) ซึ่งทั้งสองโครงการได้รับทุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณู และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) ได้สนับสนุนผู้แทนจากประเทศไทยสองคนเข้าร่วมการประชุมนี้
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ (ลำดับสองจากด้านซ้าย) ในการบรรยายหัวข้อผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรปต่อห่วงโซ่มูลค่าระหว่างประเทศ
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายหลักได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน โดยเฉพาะกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) โดยเน้นไปที่ผลกระทบจากข้อกำหนดบรรจุภัณฑ์ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการจัดการบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่งบังคับใช้ในสหภาพยุโรปไม่นานมานี้
นอกจากการประชุมหลัก GIZ ยังได้จัดกิจกรรม GIZ Networking Day ในวันที่ 18 เมษายน โดยผู้เข้าร่วมงานกว่า 120 คนจาก 23 ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและพูดคุยถึงบทบาทของเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลก
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ (ซ้าย) ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี (ขวา) ในช่วงพูดคุยย่อยเพื่อสร้างเครือข่ายตามเนื้อหาแบบอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive Thematic Networking)
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ที่ปรึกษาด้านการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำเสนอความสำเร็จและความท้าทายที่สำคัญในการจัดการขยะและกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้หัวข้อ “เมืองเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากร” ดร.สุจิตรากล่าวว่า การจัดการขยะของ กทม. กำลังเปลี่ยนจากการเน้นที่ความสะอาดและการกำจัดไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืนและเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้ว่า กทม. จะให้ความสำคัญอย่างมากกับการแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล แต่การลดขยะโดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยโครงการ CAP SEA ได้สนับสนุน กทม. และ Refill Bangkok Network ในการทำแผนที่จุดเติมน้ำดื่มและการพัฒนาคู่มือการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มต่อจากความสำเร็จในการติดตั้งสถานีน้ำดื่มสาธารณะ 10 แห่งของเครือข่ายเพื่อมุ่งลดการใช้ขวดน้ำดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเขตเมือง
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี บรรยายหัวข้อเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากร
งานประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นโดย Sitra กองทุนฟินแลนด์เพื่อการนวัตกรรม โดยมีมูลนิธิ Circle Economy Foundation เป็นพันธมิตรด้านการจัดกำหนดการ และ International Resource Panel เป็นพันธมิตรด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศอีกมากมาย ตลอดสี่วันของงานประชุมมีการจัดประชุมใหญ่ 4 ครั้งและการประชุมย่อย 16 ช่วงที่อิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด เสริมด้วยเวิร์กชอป 11 ครั้งที่จัดโดยพันธมิตรของเจ้าภาพ ก่อนที่งานประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียนโลกปีนี้จบลงด้วยความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยงานครั้งถัดไปจะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิล
คุณอัลวาโร่ ซูริต้า
ผู้อำนวยการโครงการ CAP SEA
อีเมล: alvaro.zurita(at)giz.de