ไทย-เยอรมันแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อออกแบบเมืองและการคมนาคมขนส่งให้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การแลกเปลี่ยนความรู้ไทย-เยอรมัน: “การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำในมิติการวางผังเมืองและการวางแผนคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน”
- การวางแผนการขนส่งอย่างยั่งยืนเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและสามารถฟื้นตัวได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
- ไทยและเยอรมนีมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างกัน การนำแนวคิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับบริบทของการพัฒนาและพฤติกรรมของผู้ใช้ในประเทศไทย
- แนวคิด “คนเป็นศูนย์กลาง” เป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการคมนาคมขนส่ง
องค์กรความร่วมมือประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ไทย – เยอรมัน ในหัวข้อ “การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำในมิติการวางผังเมืองและการวางแผนคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง พระราม 9 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ร่วมกันหารือแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเมือง และการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการทำงานในทางปฎิบัติ การหารือดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักผังเมือง และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองของไทย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยของเยอรมนี
ในการแลกเปลี่ยนฯ ครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญสองท่านจากมหาวิทยาลัยชตุทการ์ทได้นำแสนอแนวทางการวิจัยเบื้องต้น และบทเรียนจากกรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบาง รวมทั้งการบูรณาการการวางแผนการคมนาคมขนส่งเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน และเน้นย้ำถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการคมนาคมขนส่งควบคู่กัน ตลอดจนแนวคิดการใช้คนเป็นศูนย์กลางตั้งแต่กระบวนการวางกรอบนโยบาย ไปจนถึงตัวอย่างจากกรณีศึกษาทั้งในระดับเมืองของเมืองชตุทการ์ทและระดับประเทศในประเทศเยอรมนี
ทำความเข้าใจวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการวางผังเมืองแบบบูรณาการ
ดร.อาลี เจมเชด (Dr Ali Jamshed) นักวิชาการจากสถาบันการวางแผนเชิงพื้นที่และชุมชนเมือง (Institute of Spatial and Regional Planning) นำเสนอผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเมือง ตลอดจนความสำคัญของการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางในการพัฒนาแผนการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.อาลี เน้นว่ามาตรการเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างขีดความสามารถในการรับมือในเขตเมืองต่างๆ นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมในหุบเขาอาห์ (Ahr Valley) ในเยอรมนีครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูที่คำนึงถึงการรับมือและฟื้นตัวได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการวิจัยชี้ให้เห็นว่าทางเลือกในการปรับตัว เช่น การโยกย้ายและปรับเปลี่ยนที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชากรหลังจากเหตุการณ์ร้ายแรงด้วย
นักผังเมืองและนักวิจัยทั้งสองประเทศได้ร่วมกันนำเสนอและหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและสร้างความทนทานต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบของมาตรการการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบ โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการตรวจวัดและประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และความน่าจะเป็นในการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการการวางแผนเชิงพื้นที่และการวางผังเมืองของไทยภายใต้เครื่องมือทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ฉบับปัจจุบัน
แนวทางการวางแผนการคมนาคมขนส่งเชิงบูรณาการของประเทศเยอรมนี
ศาสตราจารย์มาร์คุส ฟรีดริช (Prof. Markus Friedrich) จากสถาบันการวางแผนถนนและการขนส่ง ได้นำเสนอการวางแผนการคมนาคมขนส่งเชิงบูรณาการของเยอรมนีในหัวข้อ “เครือข่ายเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนและฟื้นตัวได้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”
ศ.มาร์คุส บรรยายถึงความสอดคล้องของเป้าหมายด้านการพัฒนาเมืองในการจัดให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันสำหรับพลเมือง โดยสรุปให้เห็นภาพของโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้นของการวางแผนเชิงพื้นที่และการขนส่งที่ให้ความสำคัญกับ (1) บทบาทของแผนการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งระดับประเทศ รัฐ และท้องถิ่น (2) ความสำคัญของแหล่งข้อมูลระดับชาติที่ให้ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อใช้ในการวางแผน (3) แนวคิดสถานที่ศูนย์กลางในการวางแผนเชิงพื้นที่และวิธีการประเมินการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ซึ่งถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ เช่น เวลาการเดินทาง และคุณภาพการบริการที่น่าเชื่อถือ ตรงต่อเวลา ปลอดภัย และสะดวกสบาย โดยประเด็นสำคัญดังกล่าวนำไปสู่การแลกเปลี่ยน-ระหว่างนักผังเมือง และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการขนส่งของกรมโยธาฯ และนักวิจัยชาวเยอรมัน
กรณีศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างไทยและเยอรมนีครั้งนี้ นำมาสู่การหารือถึงจุดเริ่มต้นในการบูรณาการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินงานสนับสนุนจากโครงการ Urban-Act ในลำดับถัดไป
ปักหมุดเพื่อก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่พร้อมรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ
ผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 100 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมโยธาฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการฯ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน พูดคุย และยกประเด็นความแตกต่างของการวางแผนการขนส่งที่ยั่งยืนทั้งในเชิงรายละเอียด และแนวทางการลงมือปฏิบัติจากกรณีศึกษาของเยอรมนี เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการประยุกต์และใช้ประโยชน์จากแนวทางการวิจัยและรูปแบบการออกแบบการวิเคราะห์การขนส่งและคมนาคมภายในเมืองให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
ในช่วงท้าย วิทยากรทั้งสองท่านได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการร่วมกันในการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนของเมืองด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา รัฐบาล และภาคประชาสังคม ทำให้เมืองต่างๆ ผสานความเชี่ยวชาญของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เร่งด่วนในเมือง
อัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง เน้นย้ำว่า “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของกรมโยธาฯ เพื่อกระตุ้นการทำงานเชิงรุก เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ด้าน ไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act เสริมว่า “การสะท้อนมุมมอง แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ของกรมโยธาฯ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อโครงการ Urban-Act เพื่อปรับแนวทางการวิจัยและสนับสนุนทางเทคนิคจากทีมงานมหาวิทยาลัยในระหว่างการดำเนินงานร่วมกัน”
โครงการ Urban-Act มุ่งมั่นในการร่วมสร้างอนาคตเมืองที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของการพัฒนาเมือง และสนับสนุนด้านวิชาการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองให้มีเครื่องมือและแนวทางที่เอื้อต่อการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Urban-Act ที่
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล:heinrich.gudenus(at)giz.de