H2Uppp ร่วมผลักดันไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การผลิตแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ
โครงการ H2Uppp จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องแอมโมเนียสีเขียว
- โครงการ H2Uppp จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแอมโมเนียสีเขียว (Green Ammonia) และการนำมาใช้งานในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- การประชุมเชิงปฏิบัติการแสดงผลการวิเคราะห์ศักยภาพที่ครอบคลุมของการนำแอมโมเนียสีเขียวมาใช้ในหลายประเทศ โดยเน้นไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบทบาทเชิงกลยุทธ์ของไทยในภูมิภาค
- ผู้ร่วมงานได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่น่าสนใจในการผลิตและนำแอมโมเนียมาใช้ ควบคู่ไปกับความท้าทายหลัก ๆ ที่พบในการทำโครงการแอมโมเนียสีเขียว
วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567 โครงการ International Hydrogen Ramp-Up (H2Uppp) ในประเทศไทยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการทางออนไลน์เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาตลาดแอมโมเนียสีเขียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับศักยภาพของแอมโมเนียและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
แอมโมเนีย (NH3) ประกอบด้วยธาตุไนโตรเจนและไฮโดรเจน เป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของไทย โดยมีบทบาทสำคัญในการผลิตปุ๋ย แอมโมเนียสีเขียวที่ผลิตจากไฮโดรเจนสีเขียวมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากและค่อย ๆ เข้ามาแทนที่แอมโมเนียสีเทาซึ่งมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างคาร์บอนสูงที่ยังคงเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมในภูมิภาค
การประชุมแอมโมเนียสีเขียวครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำแอมโมเนียมาใช้ในหลายภาคส่วน ห่วงโซ่คุณค่า โอกาสทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การประชุมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอหัวข้อโอกาสของแอมโมเนียสีเขียวในมุมมองระดับโลก โดยเน้นถึงสถานะในตลาดของแอมโมเนีย มาตรฐานการรับรอง ผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างราคา รวมทั้งกรอบกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ตามด้วยภาพรวมตลาดของแอมโมเนียในระดับภูมิภาค และแนวทางการนำแอมโมเนียสีเขียวมาใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงแนวโน้มการนำแอมโมเนียสีเขียวมาใช้ในภาคขนส่งทางทะเล โดยกล่าวถึงเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงการในปัจจุบันเป็นพิเศษ การประชุมยังให้ข้อมูลเชิงลึกที่เจาะจงในบริบทของภูมิภาค เน้นไปที่ความพยายามของอินโดนีเซียในการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนียสีเขียว
มุมมองอนาคตของแอมโมเนียสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย โดย DNV
แม้ปัจจุบันยังไม่มีการนำแอมโมเนียสีเขียวมาใช้ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูง แต่การประชุมนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านไปใช้แอมโมเนียสีเขียว พร้อมตอกย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งของการร่วมมือกันเพื่อที่จะก้าวข้ามความท้าทายและคว้าโอกาสในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการสนับสนุนความตั้งใจนี้ การประชุมครั้งนี้จึงมีผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย โดยมีหน่วยงานด้านพลังงานชั้นนำ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมอภิปรายถึงปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาแอมโมเนียสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โอกาสของการใช้แอมโมเนียสีเขียวในมุมมองระดับโลก โดย DNV
โครงการ H2Uppp ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ดำเนินโครงการทั่วโลกโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สำหรับโครงการ H2Uppp ในประเทศไทย ดำเนินการร่วมกับหอการค้าไทย-เยอรมัน (German-Thai Chamber of Commerce – GTCC) และเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการฯ ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนนโยบายและพัฒนาตลาดสำหรับไฮโดรเจนสีเขียวและ PtX ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม การริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และโครงการต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านไฮโดรเจนในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนของประเทศเยอรมนี
บริษัท MAN Energy Solutions นำเสนอเรื่องการนำแอมโมเนียสีเขียวมาใช้ในการเดินเรือ
ผู้สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านรายงานผลการศึกษาตลาดแอมโมเนียสีเขียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำโดยโครงการ H2Uppp ได้ที่ https://t1p.de/tlvgo
ทิม นีส์
ผู้จัดการโครงการ H2Uppp
อีเมล: tim.nees(at)giz.de