มจธ. ร่วมกับ GIZ จัดการศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีการแปรรูปชีวมวล
ทีมงาน TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวลและผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงานฯ จากหน่วยงานความร่วมมือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ณ อาคารปฏิบัติการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE Pilot Plant)
- TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวลและหน่วยงานความร่วมมือภาครัฐเข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบของ มจธ. ชูเทคโนโลยีการแปลงชีวมวลเป็นพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
- ชีวมวลอัดเม็ดอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรที่ต้องการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยคาดว่าจะเริ่มทดลองในจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการฯ ต่อไป
- การศึกษาดูงานครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแปลงชีวมวลเป็นพลังงานที่อาจนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร และเอื้อให้เกิดการพูดคุยหารือถึงความร่วมมือด้านพลังงานยั่งยืนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ GIZ ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ได้จัดการศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเป็นพลังงาน และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Advanced Fuel Processing Laboratory (AFPL) ของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ณ มจธ. วิทยาเขตบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมครั้งนี้คือ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และแนะนำเทคโนโลยีการแปลงวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อผลิตเป็นพลังงาน โดย รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ AFPL ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ แก่หน่วยงานความร่วมมือภาครัฐทั้ง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร
หลังจากการนำเสนอในห้องประชุม รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ และทีมวิจัย มจธ. ได้พาผู้เข้าร่วมชมงานฯ ศึกษาเครื่องมือจริงในห้องปฏิบัติการ เพื่อแสดงเทคโนโลยีการแปรรูปชีวมวลเป็นพลังงานที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ โดยมีเครื่องมือตั้งแต่ระดับนำร่องในอุตสาหกรรมจนถึงระดับสาธิตในเชิงพาณิชย์ เช่น เครื่องบดย่อยชีวมวล (Hammer Mill) เครื่องผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด (Pellet Mill) เครื่องอัดแท่งชีวมวล (Briquette Machine) และเตาปฏิกรณ์ทอร์รีแฟคชันแบบสั่น (Vibrating Torrefaction Reactor)
โครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล เล็งเห็นว่าการกระจายแหล่งผลิตชีวมวลอัดเม็ดตามชุมชนท้องถิ่นสามารถลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มความสามารถในการจัดเก็บ และเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มทดลองในจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการฯ จากการศึกษาพบว่าเมื่อเปรียบเทียบการอัดเม็ดกับการอัดก้อนฟางข้าว การอัดเม็ดมีประโยชน์กับเกษตรกรมากกว่า เพราะจะช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บได้ราว 80% และเพิ่มระยะทางในการขนส่งได้กว่า 300% จึงนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่ง
การศึกษาดูงานครั้งนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแปลงชีวมวลเป็นพลังงานที่อาจนำไปต่อยอดในโครงการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรไทยแล้ว ยังเอื้อให้เกิดการพูดคุยหารือถึงความร่วมมือด้านพลังงานยั่งยืนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่อไปในอนาคตด้วย
กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โดยมีระยะดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2570 สำหรับโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวลดำเนินงานโดย GIZ และ มจธ. มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อันก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางอากาศจากการเผา และเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย
ตัวอย่างชีวมวลอัดเม็ดที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กาบมะพร้าว ฟางข้าว ใบและยอดอ้อย ฯลฯ โดยห้องปฏิบัติการ AFPL
การสาธิตการผลิตชีวมวลอัดเม็ดจากฟางข้าวด้วยเครื่องผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด (Pellet Mill)
เทคโนโลยีการปรับสภาพชีวมวลด้วยเตาปฏิกรณ์ทอร์รีแฟคชันแบบสั่น (Vibrating Torrefaction Reactor) โดยมีกำลังการผลิต 25-40 กก. ต่อชั่วโมง
ลิสา เฟาสต์
ผู้จัดการโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล
อีเมล: lisa.faust(at)giz.de