CASE จัดประชุมระดับภูมิภาคด้านการออกแบบตลาดไฟฟ้าสำหรับพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวแทนจากองค์กรในแต่ละประเทศรวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนในตลาดไฟฟ้า
- ขณะนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมุ่งมั่นที่จะเร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในหรือหลังปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
- ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ร่วมหารือเกี่ยวกับกลไกตลาดเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน
- การประชุมครั้งนี้ได้ค้นหาว่าโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (APG) จะสามารถเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้นได้อย่างไร
การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการออกแบบตลาดไฟฟ้าสำหรับพลังงานหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Workshop on Electricity Market Designs for Renewables in Southeast Asia) จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานครเป็นเวลาสองวันระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน พ.ศ. 2567 เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเพิ่มการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้บรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) งานนี้จัดโดย “โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (CASE) และ “พันธมิตรการเปลี่ยนผ่านพลังงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (ETP) โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญกว่า 60 คนจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงตัวแทนรัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล บริษัทสาธารณูปโภค ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน และผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมาร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้
การประชุมเชิงปฏิบัติการเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ทั้งภูมิภาคกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทั้งสี่ประเทศที่เข้าร่วมต่างเดินหน้าปรับใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ทำให้ผู้ร่วมงานได้รับทราบถึงความท้าทายร่วมกันที่ทั้งสี่ประเทศกำลังเผชิญในการผสานแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนเหล่านี้เข้ากับโครงข่ายและตลาดพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ การพูดคุยได้มุ่งเน้นไปที่การระบุแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนรูปแบบตลาด การแบ่งปันความรู้ และกลยุทธ์การลงทุนเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นของระบบ เช่น การจัดเก็บแบตเตอรี่
ความพยายามร่วมกันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดได้สำเร็จและราบรื่นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ตามที่ คุณซาช่า อ้อปโปว่า ผู้อำนวยการโครงการพลังงานของ GIZ เน้นย้ำว่า “ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่เพียบพร้อมและโอกาสในการลงทุน แต่ปัจจุบันสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมยังคงมีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานอื่นๆ การประชุมนี้เจาะลึกว่าจะปรับเปลี่ยนการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีอยู่ได้อย่างไรเพื่อดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านพลังงานหมุนเวียน และทำให้โครงข่ายไฟฟ้าในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญนี้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น”
หากมองไปไกลกว่าพรมแดนประเทศ การประชุมได้หาแนวทางเพื่อให้โครงข่ายระบบไฟฟ้าของอาเซียน (APG) มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์พลังงานของภูมิภาค โดยเป้าหมายของ APG คือการสนับสนุนให้โครงข่ายไฟฟ้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น พร้อมทำให้การซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวก ความร่วมมือนี้จะทำให้ประเทศต่างๆ ได้ประโยชน์มากขึ้น และเข้าถึงแหล่งทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่กว้างขวางขึ้น อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั่วทั้งภูมิภาค โดย APG ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดข้ามพรมแดน และนับเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป
ในปลายปีนี้ โครงการ CASE จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ฉบับเต็มเกี่ยวกับวิธีที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการตลาดเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
เกี่ยวกับ โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)
โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น ในด้านการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับภูมิภาค ได้แก่ Agora Energiewende และ NewClimate Institute
CASE ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงเล่าเรื่องในภาคพลังงานของภูมิภาคไปสู่การเปลี่ยนแปลงพลังงานตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักฐานใหม่ที่อิงกับความเป็นจริงในท้องถิ่น ซึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อผู้จัดการด้านเศรษฐกิจ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาคพลังงาน ผู้นำในอุตสาหกรรม และผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเชิงกลยุทธ์ในภาคพลังงานอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ โครงการใช้วิธีการค้นหาข้อเท็จจริงร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญและการเจรจาหารือ เพื่อมุ่งไปสู่ฉันทามติโดยการหลอมรวมประเด็นที่มีความเห็นต่าง เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ CASE เพิ่มเติมได้ที่ caseforsea.org
คุณซาช่า อ้อปโปว่า
ผู้อำนวยการโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE)
อีเมล:sascha.oppowa(at)giz.de