อาเซียน-เยอรมนีจัดงานเปิดตัวเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวของอาเซียน ร่วมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคอุบัติใหม่ด้านสาธารณสุขฉุกเฉินในระดับภูมิภาค
จาการ์ตา 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นตัวของอาเซียนผ่านการสร้างศักยภาพหลักในด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน (Strengthening ASEAN Resilience through Capacity Building of Core Competencies in Public Health Emergency: PHE) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ร่วมกับสํานักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานเปิดตัว “เครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN One Health Network: AOHN) และ “แผนปฏิบัติการร่วมสำหรับเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN One Health Joint Plan of Action: ASEAN OH JPA) ควบคู่กับการสัมมนาออนไลน์ (Webinars) เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต กิจกรรมครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน
งานเปิดตัวเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN One Health Network: AOHN) และแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN One Health Joint Plan of Action: ASEAN OH JPA) จัดขึ้น ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จาการ์ตา เพื่อเน้นย้ำถึงความสำเร็จของความร่วมมือและการดำเนินงานร่วมกันภายใต้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวในอนาคต
ผู้แทนกว่า 100 คน ทั้งจากการเข้าร่วมในสถานที่จริงกว่า 70 คน และการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ เข้าร่วมงานเปิดตัวเครือข่าย “สุขภาพหนึ่งเดียว” ระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมแสดงความมุ่งมั่นในการนำแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับเครือข่าย “สุขภาพหนึ่งเดียว” ระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่การปฏิบัติ โดยเป็นตัวแทนจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข (ASEAN Senior Officials Meeting on Health Development: SOMHD) รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) โรคระบาดจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Senior Officials Meeting of the ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: SOM-AMAF) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials Meeting on Environment: ASOEN) สํานักงานเลขาธิการอาเซียนและสำนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและระหว่างรัฐบาล
งานเปิดตัวเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคอาเซียนซึ่งจัดขึ้นในช่วงเช้า ตามด้วยการสัมมนาออนไลน์หัวข้อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ในอนาคตซึ่งเน้นกรอบแนวคิดตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” แผนปฏิบัติการร่วมสำหรับเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคอาเซียน มีการระบุกรอบแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ด้วยการประสานงานระหว่างสุขภาพหนึ่งเดียว การดำเนินงานแผนปฏิบัติการร่วมนี้จะเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนเพื่อบรรเทาภัยคุกคามทางชีวภาพ โดยเฉพาะประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อการระบาดและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ นอกเหนือไปจากการหารือที่เข้มข้นและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติและในภูมิภาคเกี่ยวกับสุขภาพหนึ่งเดียวและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้แล้ว ยังมีการจัดทำบทสรุปเชิงนโยบาย (Policy Briefs) สำหรับ (1) การเตรียมการและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียนในอนาคตและ (2) การถอดบทเรียนจากองค์กรและความร่วมมือระดับนานาชาติสำหรับการดำเนินงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว เป็นการสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องสำหรับการเตรียมการและการตอบสนองในอนาคต
ดร. ไซยาริฟา ลิซา มูนิรา (Dr. Syarifah Liza Munira) อธิบดีหน่วยงานด้านนโยบายสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวเปิดว่า “กิจกรรมวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามร่วมกันของเราในการจัดการกับความท้าทายด้านสาธารณสุขผ่านแนวทางการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน หรือที่เราเรียกกันว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในฐานะประชาคมอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวและความมั่นคงด้านสาธารณสุข สุขภาพหนึ่งเดียวคือแนวทางในการออกแบบและดำเนินโครงการ นโยบาย กฎหมาย และการวิจัย ซึ่งหลายภาคส่วนมีการสื่อสารและทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขที่ดีขึ้น”
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการเพิ่มความร่วมมือและการประสานงานข้ามพรมแดนในการเตรียมการและรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะกรณีที่อาจเกิดการระบาดใหญ่ กรณีของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนภัยคุกคามหลายมิติจากภาคส่วนอื่น ๆ รวมถึงการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นการกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ไม่เพียงแต่เสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีภาคส่วนสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือข้ามภาคส่วนด้วย การเป็นประธานอาเซียนของของอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2566 เน้นย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนในเวทีระดับโลก หนึ่งในนั้นคือการเสริมสร้างสถาปัตยกรรมด้านสุขภาพระดับภูมิภาค เพื่อการป้องกัน การเตรียมการ และการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อภัยคุกคามด้านสาธารณสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต
คุณโอลิเวอร์ โฮปป์ (Oliver Hoppe) ที่ปรึกด้านการพัฒนาความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศอินโดนีเซีย อาเซียน และติมอร์-เลสเต กล่าวผ่านวิดีโอว่า “เราไม่ได้เพียงแค่เปิดตัวเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวของอาเซียนและแผนปฏิบัติการร่วมฯ เท่านั้น แต่ยังริเริ่มดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ที่จะยกระดับการเตรียมการของเราสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต แผนปฏิบัติการร่วมด้านสุขภาพของอาเซียนจะให้กรอบการทำงานที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการด้านสุขภาพหนึ่งเดียวที่ยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะจัดการกับภัยคุกคามทางชีวภาพด้วยแนวทางแบบองค์รวมที่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม”
คุณพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในประชาคมอาเซียนสำหรับการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นตัวและความมั่นคงด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาค พร้อมกล่าวว่า “หนึ่งในช่องว่างที่สำคัญและควรได้รับการแก้ไขคือการพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะการติดตามผู้สัมผัสและการสอบสวนการระบาดเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาการจัดการควบคุมโรคและจัดให้มีจุดคัดกรอง ณ ด่านข้ามแดนในแต่ละประเทศ รวมถึงผู้ที่ทำงานด้านการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน สาธารณสุข และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียน (EOC) และศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) เพื่อประสานและขยายระบบสุขภาพหนึ่งเดียวระหว่างประเทศ”
Gallery
คุณพจมาน วงษ์สง่า
ผู้อำนวยการโครงการ PHE
อีเมล: pouchamarn.wongsanga(at)giz.de