เสวนา Climate Talks เยอรมัน-ไทย หาแนวทางความร่วมมือเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย
งาน Climate Talks จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
- สถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ จัดงาน Climate Talks เพื่อเสวนาเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย โดยเน้นไปที่ภาคพลังงานและภาคขนส่ง
- งานนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีเข้าร่วมเพื่อให้ความรู้และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสบการณ์และกลยุทธ์ของเยอรมนีในการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาคส่วน
- ในงานมีผู้ร่วมเสวนาชาวไทยจากแวดวงวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรม ร่วมสนทนาถึงก้าวถัดไปของประเทศไทยในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ผ่านมุมมองเชิงเทคโนโลยี นโยบาย และการเงิน
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยจัดงานClimate Talks ร่วมกับโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) เพื่อสนับสนุนการสร้างบทสนทนาด้านการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนของภาคพลังงานและภาคขนส่งของไทย
ความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงเพียงภาคส่วนเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงานหรือภาคขนส่ง ความพยายามที่จะทำงานแบบผสมผสานและระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ จึงจำเป็นต่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่เรามีร่วมกัน” ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา (Dr Dominika Kalinowska) ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC กล่าว เน้นให้เห็นถึงจุดเด่นของโครงการที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่จะทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักแทน
ต่อเนื่องจากงานเสวนาเรื่องการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยในเยอรมนี ร่วมกับบริษัทอโกร่า ทรานสปอร์ต (Agora Verkehrswende: Agora Transport) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา งานเสวนาครั้งนี้ได้ต่อยอดสำรวจกลยุทธ์การลดการปล่อยคาร์บอนของภาคพลังงานโดยคุณดิมิทรี เพสเซีย (Dimitri Pescia) ผู้อำนวยการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออก บริษัทอโกร่า เอเนอร์จี (Agora Energiewende: Agora Energy) ได้พูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงานด้วยการกล่าวถึงความพยายามของเยอรมนีในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นและข้อได้เปรียบของการมีระบบพลังงานที่ยืดหยุ่น
คุณดิมิทรี เพสเซีย ผู้อำนวยการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออก บริษัทอโกร่า เอเนอร์จี
ถัดมา คุณคริสเตียน โฮคเฟลด์ (Christian Hochfeld) ผู้อำนวยการบริษัทอโกร่า ทรานสปอร์ต อธิบายถึงที่มาของความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในภาคขนส่งของเยอรมนี และเน้นความสำคัญของการวางแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในการคมนาคมขนส่ง“ภาคพลังงานต้องการภาคขนส่ง และภาคขนส่งก็ต้องการภาคพลังงาน” คุณคริสเตียนกล่าว
คุณคริสเตียน โฮคเฟลด์ ผู้อำนวยการบริษัทอโกร่า ทรานสปอร์ต
นอกจากนี้ งานนี้ยังมีการอภิปรายในหัวข้อ “มุมมองและข้อคิดเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทย” โดยมี รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ. ดร.แนบบุญ หุนเจริญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ปกรณ์ เทพรัตน์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และคุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทป่าสาละ จำกัด และผู้อำนวยการเครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (CFNT)
ผู้ร่วมอภิปรายมองผ่านมุมมองด้านเทคโนโลยี การปรับปรุงนโยบาย และการเงิน และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับก้าวถัดไปของประเทศไทยในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยไม่ได้ตามหลังเยอรมนีมากนักในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน โดยไทยกำลังเน้นไปที่การพัฒนาความยืดหยุ่นของระบบส่งไฟฟ้าเพื่อที่จะรับมือกับแหล่งพลังงานแบบกระจายตัว (DERs) ที่เพิ่มขึ้นได้ เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การวางระบบพื้นฐานให้สอดคล้องกันและปรับปรุงระบบการตรวจวัดที่จะจัดการการเปลี่ยนแปลงในโครงข่ายพลังงานแผนการเริ่มต้นนโยบายที่ชัดเจน การปรับปรุงข้อบังคับ และการพัฒนากลไกตลาดจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
การเปลี่ยนผ่านพลังงานนอกจากต้องพิจารณาด้านเทคโนโลยีและนโยบายแล้ว ประเด็นการเงินและสังคมก็เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน การจัดหาเงินทุนและแผนสนับสนุนทางการเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันจึงควรปรับโครงสร้างและจัดระบบผลตอบแทนให้สอดคล้องกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านในระยะยาว สำหรับผลกระทบด้านสังคม ทั้งการสูญเสียงานและความต้องการทักษะใหม่ ๆ ก็ต้องได้รับการจัดการที่ดีด้วย การพยายามก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ร่วมกันจึงจะทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานประสบความสำเร็จ
การอภิปรายหัวข้อ “มุมมองและข้อคิดเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทย”
โครงการ TGC EMC สนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 โดยได้รับงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โครงการ TGC EMC จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนานโยบาย และนวัตกรรมต้นแบบธุรกิจ ผ่าน 5 กลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา
ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC
อีเมล:dominika.kalinowska(at)giz.de