งานสัมมนาไทย-เยอรมันถอดรหัสตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เวทีเสวนาในหัวข้อ “ขายคาร์บอนเครดิตอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในตลาดของโครงการภาคขนส่งภายใต้เงื่อนไขระหว่างประเทศ”
- โครงการ TGC EMC ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดงานสัมมนาในหัวข้อระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในภาคการขนส่งของประเทศไทย
- ในเวทีเสวนา มีผู้ซื้อผู้ขายที่มีประสบการณ์จริงในตลาดคาร์บอนเครดิตมาแบ่งปันความรู้ในการซื้อขาย
- การสัมมนาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างโครงการ TGC EMC และ สนข. ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคการขนส่งของประเทศไทยในการขับเคลื่อนภาคการขนส่งให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ถอดรหัสตลาดคาร์บอนเครดิตในภาคคมนาคมขนส่ง ความท้าทาย และแนวทางในการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงปารีส มาตรา 6” เพื่อหารือเกี่ยวกับกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส ซึ่งวางหลักเกณฑ์เอาไว้ว่าแต่ละประเทศสามารถร่วมมือกันเพื่อไปถึงเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศตนเองได้อย่างไร
งานสัมมนาแบบไฮบริดนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน จากหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่นที่สนใจจะพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตในภาคการขนส่ง โดยเน้นภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับกลไกการซื้อขาย ผู้บรรยายได้แสดงให้เห็นขั้นตอนและอุปสรรคของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาด โดยยกกรณีจริงในภาคขนส่งมาเป็นตัวอย่าง ช่วงสำคัญของงาน ได้แก่ ช่วงเวทีเสวนาในหัวข้อ “ขายคาร์บอนเครดิตอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในตลาดของโครงการภาคขนส่งภายใต้เงื่อนไขระหว่างประเทศ” ซึ่งได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาโครงการในภาคขนส่งเพื่อให้โครงการสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรา 6 ของข้อตกลงปารีสได้ โดยมีคุณกฤตยา ชุณหวิริยะกุล จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คุณวิคกี้ ยานส์เซน จากมูลนิธิ KliK และคุณฉัตรพล ศรีประทุม จากบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมเสวนา
งานสัมมนาครั้งนี้เป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ TGC EMC โดยกลุ่มงานคมนาคมขนส่ง ซึ่งมุ่งเน้นผลักดันภาคการขนส่งของประเทศไทยไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำคัญของโครงการในการเสริมสร้างขีดความสามารถคือ การสร้างความตระหนักให้กับผู้ดำเนินนโยบายถึงเงื่อนไขที่ซับซ้อนและต้นทุนที่สูงของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต อีกทั้ง การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอาจชะลอความพยายามของประเทศไทยที่จะไปถึงเป้าหมายในภาคการขนส่งของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) เนื่องจากคาร์บอนเครดิตที่ขายไปจะไม่สามารถนำมานับรวมในปริมาณก๊าซเรือนประจกที่ประเทศลดได้ เพื่อป้องกันการนับซ้ำ
โครงการ TGC EMC สนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 โดยได้รับงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โครงการ TGC EMC จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนานโยบาย และนวัตกรรมตัวแบบธุรกิจ ผ่าน 5 กลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตัวแทน ผู้บรรยาย และผู้ร่วมเสวนาจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิ KliK และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา
ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC
อีเมล:dominika.kalinowska(at)giz.de