CCMB สนับสนุน สส. ดำเนินการจัดทำการบริการข้อมูลภูมิอากาศของประเทศไทย
- บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ปฏิบัติจริง จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายภาคส่วน
- โครงการ CCMB ร่วมมือกับ สส. จัดการประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานด้านข้อมูลสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และหนุนความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองสภาพภูมิอากาศจากภาครัฐ สถาบันทางวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ
- การประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายข้อมูลสภาพภูมิอากาศ โดยผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนเห็นพ้องที่จะแบ่งปันข้อมูล ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดการประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาความร่วมมือการจัดทำและให้บริการข้อมูลภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อสำรวจสถานภาพของการดำเนินงานด้านข้อมูลภูมิอากาศและแบบจำลองภูมิอากาศ รวมถึงหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการบริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
“ตามร่างพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. กรมฯ มีอำนาจในการเข้าถึงหรือเรียกข้อมูลภูมิอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ เพื่อใช้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย” คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สส. กล่าว
คุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สส.
กรอบการดำเนินงานด้านการบริการข้อมูลภูมิอากาศแห่งชาติเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการหนุนเสริมศักยภาพด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ได้นำเสนอการเชื่อมโยงดังกล่าวในสาขาต่างๆ ผ่านการดำเนินโครงการ เช่น โครงการ Climate Field School โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) และโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF)
ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา
ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สส. นำเสนอแพลตฟอร์มข้อมูลด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ชื่อว่า T-Plat INFO โดยเน้นย้ำถึงการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน รวมถึงรูปแบบการนำเสนอข้อมูล นอกจากนี้ ดร.อัศมน ยังนำเสนอกรอบแนวคิดในการออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลสภาพภูมิอากาศตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การสังเคราะห์และแปรผลข้อมูล ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศูนย์วิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สส.
การประชุมหารือดังกล่าวครอบคลุมประเด็นการติดตามและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ข้อมูลภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการหารือความท้าทายด้านการบริการข้อมูลภูมิอากาศ โดยเฉพาะข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งผู้ให้บริการข้อมูลภูมิอากาศได้นำเสนอแนวทางในการก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล
ในช่วงสุดท้ายของการประชุม ผู้เชี่ยวชาญเห็นควรที่จะจัดตั้งเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ให้ข้อมูล และแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการจัดประชุมในครั้งต่อไปซึ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) ภายใต้ GIZ ประจำประเทศไทย จะสนับสนุน สส. ในการจัดทำการบริการข้อมูลภูมิอากาศของไทยต่อไป
อัลบั้มภาพ
อิสรีย์ วงษ์ขวัญเมือง
PR and Communication Specialist
อีเมล: isaree.wongkhwanmuang(at)giz.de