ไทย-เยอรมันถกความร่วมมือตามแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศสากล (IKI) ณ เมืองบอนน์
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566 โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal and Marine Biodiversity: CCMB) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ได้ประสานจัดการการประชุมทวิภาคีระหว่างผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประเทศไทย และผู้แทนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (BMWK) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV)สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในประเด็นที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน ตลอดจนโอกาสการขยายความร่วมมือในวาระที่สำคัญระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องมหาสมุทร การจัดการขยะในทะเล การจัดการสารเคมี
ในการนี้ ทั้งสองประเทศได้นำเสนอแผนการดำเนินงานและความก้าวหน้าการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และการดำเนินงานภายใต้กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีภายใต้แผนงาน IKI และหารือถึงโอกาสที่จะเพิ่มระดับความร่วมมือผ่านการสนับสนุนและความริเริ่มภายใต้กรอบต่าง ๆ อาทิ กรอบการเสนอโครงการระดับประเทศภายใต้แผนงาน IKI (IKI Country Call) กรอบการเสนอโครงการรายประเด็นภายใต้แผนงานIKI (IKI Thematic Call) กองทุนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Action Facility: MAF) สโมสรภูมิอากาศ (Climate Club) ความร่วมมือในการเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพ (NBSAP Accelerator Partnership) การยกระดับแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อเร่งให้เกิดความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Enhancing Nature-based Solutions for an Accelerated Climate Transformation: ENACT)
การหารือทวิภาคีในครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับความหลากหลายทางชีวภาพและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างรับทราบว่าการดำเนินงานแบบบูรณาการมิติต่าง ๆ อาทิ การปล่อยคาร์บอนต่ำ การมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) การเป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity-Friendly) แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) ในการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการในโครงการนำร่องของ CCMB จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับโครงการสำคัญภายใต้แผนงาน IKI ในประเทศไทยประกอบด้วย โครงการ CCMBโครงการความร่วมมือไทย–เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate Change: TGC – EMC) โครงการดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Nitric Acid Climate Action Group: NACAG) และโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Integrated Urban Action for Low-Carbon and Resilient Cities: Urban-Act) โดยโครงการเหล่านี้ดำเนินการภายใต้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการบูรณาการประเด็นที่เกี่ยวข้องและดำเนินงานแบบองค์รวมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
โครงการ CCMB มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงเงื่อนไขกรอบการดำเนินงานและการบูรณาการงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง โดยผลักดันประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ไปสู่แผนการดำเนินงานทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านโครงการนำร่อง ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพแบบองค์รวมทั้งแนวดิ่งและระดับภูมิภาค ทั้งนี้โครงการ CCMB ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับ สผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาและผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่การปฏิบัติจริง นอกจากนี้ โครงการ CCMB ยังมีบทบาทสำคัญในการประสานและอำนวยการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รวมถึงมีบทบาทในการสนับสนุน สผ. BMWK และ BMUV ในการหารือทวิภาคีและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงาน IKI ในประเทศไทย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ IKI ในประเทศไทย ได้ที่ https://www.international-climate-initiative.com/en/search-project/#/