GIZ สนับสนุนประเทศไทยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้ประเทศไทยบรรลุตามวิสัยทัศน์ที่จะ “มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนจึงได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (พ.ศ. 2564-2570) โดยผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งแผนการขับเคลื่อนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว การประชุมวิชาการประจำปี 2566 ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สผ. กับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้แรงกดดันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลการดำเนินงานที่สำคัญของ สผ. รวมทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทุกระดับในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในงานประชุมวิชาการฯ และกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. กล่าวรายงานการประชุม และนายโยฮันเนส แคร์เนอร์ ที่ปรึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวให้การต้อนรับ
ตลอดระยะเวลากว่า 160 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมนี มีโครงการความร่วมมือเกิดขึ้นมากมายทั้งในระดับนโยบายจนถึงการทำงานในระดับชุมชน อาทิ การสนับสนุนงานด้านนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว การเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า การทำนาอย่างยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงโครงการสนับสนุนและพัฒนาการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การลดการใช้พลาสติกและลดขยะจากอาหาร เป็นต้น
“สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนียินดีที่จะสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการเพิ่มศักยภาพเพื่อรับมือกับความท้าทายของเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนที่สำคัญของกลยุทธ์เศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย” นายโยฮันเนส แคร์เนอร์ ที่ปรึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ นายไค ฮอฟมันน์ ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้นำเสนอผลงานและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยนายฮอฟมันน์ได้ยกตัวอย่างการจัดการพลาสติกอย่างครอบคลุมทุกด้าน นับตั้งแต่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย จัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับการลดการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ได้ครั้งเดียว การจัดทำคู่มือการรีไซเคิลขยะพลาสติก การจัดฝึกอบรมและการจัดการขยะในภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการทำงานในพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านพลาสติกที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดตรัง นอกจากนี้ ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินเพื่อป้องกันและลดขยะพลาสติกในประเทศไทย
“การจะทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนวกเรื่องนี้เข้าไปตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับท้องถิ่น ให้ผู้นำภาครัฐเห็นความสำคัญและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ” นายฮอฟมันน์กล่าว
ภายใต้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่นั้น โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) โดย GIZ ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อยกระดับการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การเดินทางสู่ความยั่งยืนนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย จำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญและความพยายามอย่างมากเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง “รัฐบาลเยอรมนีพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการดำเนินให้บรรลุผลอย่างยั่งยืนและเปลี่ยนสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ในที่สุด” นายแคร์เนอร์กล่าวทิ้งท้าย
คุณไค ฮอฟมันน์
ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP)
อีเมล:kai.hofmann1(at)giz.de
ดร.อังคณา เฉลิมพงศ์
ผู้อำนวยการโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB)
อีเมล:angkana.chalermpong(at)giz.de