การตรวจสอบสิ่งที่รู้และไม่รู้: ผู้เชี่ยวชาญหารือเกี่ยวกับความกดดันด้านสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย
การนำเสนอแนวคิดของการประชุมเชิงปฏิบัติการ
การประชุมหารือของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศตามบริบทของภาคชายฝั่งทะเลในประเทศไทย จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้โครงการ Climate Coastal and Marine Biodiversity Project (CCMB) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบพื้นที่ปัจจุบันของภาคทะเลและชายฝั่งของไทย ตลอดจนความกดดันของสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่และเป็นข้อมูลที่รู้กันในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะ ภาคส่วนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญภายใต้ แผนปฏิบัติการระดับชาติของประเทศไทย หรือที่ใช้ชื่อว่าแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan) แต่ภาคส่วนนี้กลับขาดแคลนคลังข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง และบางครั้งข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นการพิจารณาตามบริบทเฉพาะของแต่ละภูมิภาคย่อยภายในประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปตามปัจจัยทางภูมิอากาศต่างๆ ทั้งยังมีบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศไม่เท่ากัน ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบยืนยันกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ที่ประชุมได้รวบรวมการวิเคราะห์บริบทของ 18 พื้นที่โดยละเอียด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทั้งหมด การพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยทางภูมิอากาศอื่นๆ เช่น ลมมรสุมและกระแสน้ำ บ่งชี้ถึงปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอื่นๆ ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งน้ำ และแม้แต่การเกษตร โดยการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้บางส่วนนั้นสอดคล้องกับกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกและรูปแบบสภาพภูมิอากาศ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด และจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับสาเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในหัวข้อนี้เพื่อรับมือกับช่องว่างของความรู้และความไม่แน่นอน
การประชุมหารือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการมุ่งสู่อนาคตที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบองค์รวม และคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของรายงานประเมินครั้งที่ 6 ที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC AR6) ในด้านการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยการประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมงานรวม 20 คน ซึ่งเป็นตัวแทนมาจากหลากหลายสาขา ตั้งแต่นักวิชาการชั้นนำ ไปจนถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ซึ่งรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงโดยตรง โดยการดำเนินงานที่เจาะลึกมากขึ้นจะช่วยทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่อาจถูกมองข้ามไปในการทำงานแบบองค์รวม สำหรับข้อมูลที่รวบรวมจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะมีการนำไปหารือและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยประเทศไทยในการปรับการดำเนินงาน โดยโครงการ CCMB พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานทั้งหมดนี้ นอกจากนั้น การเข้าใจข้อมูลกระแสน้ำทะเลและลักษณะทางกายภาพของมรสุมอาจช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคได้กว้างขึ้น
ผู้เข้าร่วมประชุมอภิปรายเกี่ยวกับการจัดทำรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยง
เกี่ยวกับโครงการ The Climate, Costal and Marine Biodiversity (CCMB)
โครงการ The Climate, Costal and Marine Biodiversity (CCMB) มีระยะเวลาดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2570 โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาสถานภาพของกรอบการดำเนินงาน รวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของประเทศไทยในการพัฒนานโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้น โครงการยังผลักดันการบูรณาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน โดยจะมีการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องครอบคลุมหัวข้อเหล่านี้ พร้อมบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ไปพร้อมกับพัฒนาศักยภาพในระดับพื้นที่ ทางโครงการ CCMB ได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน รวมถึงร่วมงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในด้านการดำเนินงาน และด้านนโยบาย นอกจากนั้น โครงการ CCMB ยังมีบทบาทในฐานะโครงการประสานงานกลางของแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนในประเด็นเชิงเทคนิคและการเมือง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับนานาชาติ รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมนีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการดำเนินงานของแผนงาน IKI ผ่านผู้ดำเนินโครงการต่างๆ ในประเทศไทย
ศุภโชค จิตต์พิศาล
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ CCMB
อีเมล:Supachok.Chittapisan(at)giz.de