SUPA ประเทศไทย ร่วมมืออาเซียน จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดับไฟป่าในภูมิภาค
ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมฝึกปฏิบัติเสมือนจริง ณ ศูนย์อบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ
- อาเซียนร่วมมือจัดฝึกอบรมเพื่อยกระดับศักยภาพเจ้าหน้าที่ในระดับภูมิภาคเพื่อร่วมมือกันบรรเทาและแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในเชิงรุก
- การฝึกอบรมจัดขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตอกย้ำบทบาทแนวหน้าของไทยที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการไฟป่ามาอย่างยาวนานในการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนสำคัญแก่เหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน
- การฝึกอบรมนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเสริมศักยภาพและทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีส่วนในการตัดสินใจด้านการจัดการไฟป่าทั้งในมิติขององค์ความรู้ทางวิชาการ ทักษะขั้นสูง และการฝึกฝนภาคสนามเสมือนจริง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมสร้างการรับรู้และความตระหนักด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางตอนเหนือ ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคในหัวข้อ “การบริหารจัดการไฟป่าและไฟในพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม (Land and Forest Fire Management for Cambodia, Lao PDR, Thailand, and Vietnam)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ป่าพรุอย่างยั่งยืนและบรรเทาหมอกควันในอาเซียน (Sustainable Use of Peatland and Haze Mitigation in ASEAN หรือ SUPA) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ป้องกันและจัดการไฟป่ากว่า 70 คนจากทั้งประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลยุทธ์การบริหารจัดการไฟป่าในภูมิภาคร่วมกัน
การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์อบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของภูมิภาคในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและภาคประชาสังคมให้มีความรู้ด้านการควบคุมไฟป่า รวมถึงการพัฒนาเทคนิครูปแบบ วิธีการ และอุปกรณ์การควบคุมไฟป่า เพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสานความร่วมมือ และสนับสนุนการปฏิบัติงานกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเครือข่ายอาเซียนในอนาคต
นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาอย่างยาวนานและหมอกควันข้ามพรมแดนในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณสำคัญที่ผู้คนในภูมิภาคอาเซียนควรเรียนรู้และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การลักลอบเผาไร่และเศษวัสดุทางการเกษตร การรุกล้ำพื้นที่ป่าจากการขยายตัวของเมือง และการลักลอบเข้ามาจุดไฟในพื้นที่ป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ จนนำไปสู่ทั้งปัญหาไฟป่าในวงกว้าง หมอกควันข้ามพรมแดน และมลพิษทางอากาศ PM2.5 ถือเป็นวิกฤตสำคัญของทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานี้
นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจากผู้แทนประเทศต่างๆ แล้วนั้น วัตถุประสงค์สำคัญของการฝึกอบรมนี้คือการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจากประเทศสมาชิกอาเซียนทางตอนเหนือ (Upper ASEAN Member States) โดยเน้นให้มีการปฏิบัติจริงและการตัดสินใจในการวางแผนการจัดการไฟป่าในเชิงรุกเพื่อป้องกันและสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งผสมผสานการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและกิจกรรมภาคสนาม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเข้าใจแนวทางปฏิบัติและเทคนิคการจัดการไฟป่าสมัยใหม่อย่างครบถ้วนและเท่าทันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เช่น การฝึกใช้ข้อมูลขั้นสูงจากระบบดาวเทียมเพื่อการวางแผนอย่างแม่นยำ รวมถึงการใช้โดรนสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่อันตราย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการไฟป่าให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น พร้อมช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตัดสินใจได้อย่างทันการและเข้าใจความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม
ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนและความท้าทายในการจัดการไฟป่าร่วมกันในภูมิภาค
การฝึกอบรมในครั้งนี้เน้นการบูรณาการความรู้ร่วมกันของคณะทำงานเฉพาะกิจของอาเซียนว่าด้วยพื้นที่พรุ (ASEAN Task Force on Peatlands หรือ ATFP) และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐในการจัดการไฟป่าและที่ดินจากกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม โดยการฝึกอบรมวันแรกเป็นการทำความเข้าใจนโยบายในระดับภูมิภาคและนำเสนอบทเรียนในการบริหารจัดการร่วมกัน ในขณะที่กิจกรรมวันที่สองเน้นการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการปฏิบัติจริง ตลอดการฝึกอบรมนั้นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ ของการจัดการไฟป่าอย่างรอบด้าน เช่น กลยุทธ์การควบคุมไฟที่ทันสมัย กลยุทธ์การบริหารจัดการไฟป่าแบบบูรณาการ และการประยุกต์กลไกการจัดการในภาวะฉุกเฉิน โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยวิจัยพิเศษไฟป่าอาเซียนตอนบน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ
ในขณะเดียวกัน การฝึกอบรมภาคสนาม ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ยังช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมภาคสนาม โดยเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่มีประสบการณ์มาหลายสิบปีในพื้นที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการดับไฟป่าในรูปแบบต่างๆ รวมถึงระเบียบปฏิบัติมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ กิจกรรมเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเรียนรู้กลยุทธ์ รวมถึงความท้าทายที่เคยพบเจอ
การฝึกอบรมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของอาเซียนที่มุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือของเครือข่ายระหว่างประเทศในการจัดการไฟป่าและหมอกควันผ่านการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศสมาชิก โดยการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั่วทั้งภูมิภาคในครั้งนี้ถือการเสริมพลังการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในระดับภูมิภาค และส่งเสริมการหาแนวทางในการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างบูรณาการ
ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ฝึกการดับไฟป่าแบบเสมือนจริงและถูกต้องตามหลักวิชาการ
โครงการ SUPA ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและรัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมันผ่าน GIZ มุ่งเน้นไปที่การจัดการพื้นที่ป่าพรุอย่างยั่งยืนในอาเซียน โครงการดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2566-2567 โดยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของประเทศไทย ใช้งบประมาณ 38 ล้านบาท (เฉพาะในประเทศไทย) โดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายของยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าพรุของอาเซียน (APMS พ.ศ. 2549-2563) ให้บรรลุผลสำเร็จ
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากประเทศกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม
ธวัฒชัย ปาละคะมาน
หัวหน้าทีมและผู้ประสานงานโครงการ SUPA Thailand
อีเมล:Thawatchai.palakhamarn(at)giz.de