ความเป็นมา
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองภายในปี พ.ศ. 2593 พื้นที่เมืองมีกิจกรรมที่ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก โดยเฉพาะภาคพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 75% และคาดว่าจะมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ เมืองต่างๆในเอเชียยังตกอยู่ในความเสี่ยงจากผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายของการพัฒนาเมือง การตั้งถิ่นฐานและระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในพื้นที่
Urban-Act เป็นโครงการในระดับภูมิภาคที่ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ประเทศพันธมิตรเหล่านี้มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และนโยบายเมืองระดับชาติของแต่ละประเทศพันธมิตร ปัจจุบันยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายมากมายในการเปลี่ยนผ่านการจัดการเมือง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ การเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศที่จำกัด และทักษะในการหาแนวทางแก้ไขไม่เพียงพอ การเตรียมการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน
วัตถุประสงค์
สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯสนับสนุนการพัฒนาเมืองแบบปล่อยคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวใน 5 ประเทศพันธมิตร โดยเน้นการให้ความสำคัญกับบริบทและส่งเสริมนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบัน กฎระเบียบของประเทศพันธมิตรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ผ่านแนวทางดังต่อไปนี้:
- การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ: ให้การสนับสนุนการวางนโยบาย กฎระเบียบ และบริการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายความยั่งยืนในการพัฒนาเมือง
- การถ่ายทอดความรู้และพัฒนาขีดความสามารถ: มุ่งเน้นการเพิ่มพูนความสามารถของผู้มีอำนาจตัดสินใจและเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิค ผ่านการถ่ายทอดความรู้และการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตของเมืองคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้
- การบูรณาการในระดับท้องถิ่น: ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐในระดับท้องถิ่นในการสนับสนุนเมืองนำร่อง 12 เมืองใน 5 ประเทศพันธมิตร เพื่อบูรณาการหลักฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับแผนพัฒนาเชิงพื้นที่และเมืองและการวางผังเมือง รวมทั้งการจัดทำงบประมาณท้องถิ่น
- การวางมาตรการเป้าหมาย: ส่งเสริมเมืองพันธมิตรในการระบุมาตรการที่มีผลกระทบสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างความสามารถในการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ โดยเน้นที่การคมนาคมในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของผู้คน ยานพาหนะ และขนส่งมวลชน การสร้างพื้นที่สีสีฟ้า-เขียว, อาคารสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน
- การใช้ประโยชน์จากกลไกการสนับสนุนทางการเงิน: สนับสนุนการบริหารเมืองให้ใช้กลไกสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเตรียมโครงการและการดำเนินการตามมาตรการด้านสภาพอากาศในเมือง
- ความร่วมมือระหว่างประเทศ การสนับสนุนระดับภูมิภาค และการแบ่งปันความรู้: การมีส่วนร่วมกับ UNESCAP และ UCLG ASPAC ในระดับเอเชียแปซิฟิก อำนวยความสะดวกในการสนับสนุนระดับภูมิภาคผ่านการเจรจาระหว่างรัฐบาลและระหว่างเมือง รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้เกิดการแบ่งปันความรู้ การยกระดับขนายผลลัพธ์ของโครงการ และการเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดี โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคนิคดอร์ทมุนด์ และมหาวิทยาลัยสตุตการ์ต พร้อมด้วยพันธมิตรด้านการดำเนินการระดับประเทศจากห้าประเทศพันธมิตร
ผลการดำเนินโครงการที่คาดหวัง
Urban-Act เน้น 4 ผลลัพธ์ ดังนี้
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและกลไกเชิงสถาบันสำหรับการพัฒนาเมืองที่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศ
- การวางแผนเชิงพื้นที่และเมืองที่อิงตามหลักฐานและครอบคลุมทุกมิติ
- ระบุแนวคิดโครงการสำหรับการลงทุนเพื่อการดำเนินการด้านสภาพอากาศในเมือง
- เพิ่มพูนความรู้ผ่านการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภูมิภาค
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK)
ประเทศ
จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (MNR) – จีน
- กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม (MEE) – จีน
- กระทรวงการวางแผนพัฒนาแห่งชาติ (BAPPENAS) – อินโดนีเซีย
- กระทรวงการเคหะและกิจการเมือง (MoHUA) – อินเดีย
- กรมการภายในและรัฐบาลท้องถิ่น (DILG) – ฟิลิปปินส์
- สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย (สป. มท.) – ไทย
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
เมษายน พ.ศ. 2565 ถึง กันยายน พ.ศ. 2569
เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติกระบวนการร้องเรียนของ IKI หากท่านพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ ที่นี่.