ความเป็นมา
ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1] และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2562 สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก[2] ถึงแม้ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 15.4 จากการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยในกรณีปกติในปี พ.ศ. 2563[3] แต่เรายังจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานและฐานข้อมูลในหลายสาขาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลรวมเป็นระยะทางถึง 3,100 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงต่อการประสบภัยจากคลื่นพายุ การกัดเซาะชายฝั่ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล เมื่อพิจารณาถึงความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศร่วมกับการเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพื้นที่ชายฝั่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 46 ของรายได้จากการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ รายได้จากภาคท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 12ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญ จึงได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ท้าทาย ทั้งด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยด้านสภาพภูมิอากาศได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยได้เห็นชอบเป้าหมายตามกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกและประกาศเข้าร่วมในการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 โครงการ CCMB จึงกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนความพยายามของไทยในการบรรลุเป้าหมายระดับโลกนี้
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าในการสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมทั้งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการคุ้มครองและมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นเพื่อความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวและคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่งและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โครงการ CCMB มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำงานผ่านเครื่องมือเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย เช่น พื้นที่คุ้มครองทางทะเล พื้นที่ที่มีมาตรการคุ้มครองอื่นที่มีประสิทธิภาพ พื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงนิเวศหรือชีววิทยา และอื่น ๆ
แนวทางการดำเนินงาน
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศสู่การเติบโตแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ มีภูมิต้านทานและสามารถฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีรูปแบบการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ โครงการ CCMB จึงกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนประเทศไทยใน 3 ด้านหลัก ๆ ดังนี้
(1) การบูรณาการและการยกระดับการดำเนินงานด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
(2) การเพิ่มขีดความสามารถด้านข้อมูล การติดตามและประเมินผล และการสร้างความตระหนักรู้
(3) การบูรณาการจากนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ และเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
โครงการ CCMB มีแนวทางการหลักในดำเนินงาน ดังนี้
เสริมศักยภาพ: เสริมสร้างศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ ความรู้เชิงลึก และสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่หน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนานโยบาย แผนปฏิบัติงาน และคู่มือการดำเนินงาน ที่สามารถขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
สร้างความร่วมมือ: สนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมการทำงานต่อยอดร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และสนับสนุนการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
ขับเคลื่อนบูรณาการ: สนับสนุนการบูรณาการเรื่องสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ สู่นโยบายและกลไกของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ประสานเชื่อมโยง: สนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ และสนับสนุนการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและการขยายผลการดำเนินการ
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK)
รูปแบบความร่วมมือ
โครงการทวิภาคี ไทย-เยอรมัน
หน่วยงานร่วมดำเนินงานหลัก
- กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.)
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.),
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2570
[1] World Development Indicators พ.ศ. 2566 [2] Germanwatch พ.ศ.2564 [3] Thailand’s Fourth Biennual Update Report พ.ศ. 2565
เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติกระบวนการร้องเรียนของ IKI หากท่านพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ ที่นี่.