ประชุม IKI ประเทศไทย แสดงพลังขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
(จากซ้ายไปขวา) คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, คุณสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK); ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช, เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), ดร. อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV), ดร.แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร ผู้แทนเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และคุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
- การประชุมประจำปีของ IKI ประเทศไทย เป็นพื้นที่ให้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก IKI และหน่วยงานภาครัฐได้พบปะและหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน
- การประชุมประจำปีนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายและการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างพันธมิตรทางนโยบายผู้ดำเนินโครงการ
- ผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน เป็นผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐบาลไทยและจากองค์การที่ดำเนินโครงการระดับชาติและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ได้รับทุนจากกองทุน IKI มากกว่า 30 โครงการ
ผู้บริหารระดับสูงจากเยอรมนีและไทย พร้อมกับผู้แทนกว่า 100 คนจาก 30 โครงการในประเทศไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการของ IKI ประเทศไทย ที่จัดขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ กรุงเทพมหานคร โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรผู้ดำเนินโครงการ โดยโครงการที่ได้รับทุนจาก IKI ได้รับทราบถึงนโยบายและความท้าทายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลดโลกร้อน การปรับตัว และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยและเยอรมนี นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้โครงการได้นำเสนอความสำเร็จ สิ่งที่ได้เรียนรู้ และความคืบหน้าของโครงการที่ดำเนินอยู่ด้วยเช่นกัน
ผู้เข้าร่วมการประชุมร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
ดร.แบนท์ คริสเตียนเซน ที่ปรึกษาทูตฝ่ายอาหารและการเกษตร ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และดร. ฟิลิป เบเรนส์ หัวหน้ากลุ่มงาน IKI กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ได้ย้ำว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ และเยอรมนีพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608
“ก้าวที่สำคัญของประเทศไทยคือการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในของไทยเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” คุณปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกล่าว
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. เน้นย้ำถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันต่อการลดโลกร้อนและการปรับตัว ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ฉบับที่ 5 และการจัดทำพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับประเทศไทยเป็นครั้งแรก
การอภิปรายซึ่งเน้นเรื่องความพยายามร่วมกันระหว่างเยอรมนีและไทยในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติและขยายผล
ในช่วงของการสัมมนาซึ่งมีคุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้เน้นไปที่ความพยายามในการทำนโยบายให้เกิดการปฏิบัติจริงและขยายขอบเขตการทำงาน โดยมีผู้เข้าร่วมคือ ดร.ฟิลิปป์ เบห์เรนส์ ดร.อุล์ฟ เยคเคล หัวหน้าด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช คุณปวิช เกศวะวงศ์ และคุณสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งช่วยให้ผู้ฟังได้มองเห็นมุมมองของประเทศไทยและความท้าทายในการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความทนทานต่อภัยจากสภาพภูมิอากาศ และเป็นเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ รวมถึงบทบาทของ IKI ในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ในช่วงบ่ายของการประชุม ผู้แทนจาก 18 โครงการที่ได้รับทุนจาก IKI ได้บอกเล่าถึงกิจกรรมหลักที่ทำและตัวอย่างความสำเร็จ รวมทั้งผลที่ได้รับและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินโครงการ โดยการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของหน่วยงานในเครือข่ายของ IKI ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและความตั้งใจของผู้ดำเนินโครงการและหน่วยงานพันธมิตรในการผลักดันประเทศไทยไปในทิศทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมยังคงดำเนินต่อไปถึงในช่วงเย็นซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกโครงการนำเสนองานผ่านชุดนิทรรศการที่เตรียมมา ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมงานจะได้ทำความรู้จักกันแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนแนวคิด และแสวงหาแนวทางที่จะร่วมมือกันทำงานต่อไปในอนาคตทั้งในระดับประเทศและนานาชาติภายใต้การสนับสนุนของ IKI
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลเยอรมนีได้สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับสากล (IKI) นับแต่นั้นมากองทุน IKI ก็ได้สนับสนุนงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการป้องกันสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพผ่านโครงการมากมาย โดยมีพันธมิตรเป็นหน่วยงานภาครัฐและองค์กรผู้ดำเนินโครงการจำนวนมากเข้าร่วม โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนนี้ ด้วยงบประมาณราว 422 ล้านยูโร (หรือราว 1.6 หมื่นล้านบาท) ที่ให้กับโครงการระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เป้าหมาย สำหรับโครงการ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก IKI มีระยะดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2565-2570 ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานหลักของกองทุน IKI ในประเทศไทย โดยมีบทบาทในการจัดการประชุมประจำปีของ IKI และกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน IKI ในประเทศไทยต่อไป
ผู้แทนจากโครงการต่างๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก IKI นำเสนอผลงาน ความสำเร็จ และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินโครงการ
ผู้เข้าร่วมการประชุมหารือ เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
IKI Interface Thailand
อีเมล: IKI-Thailand(at)giz.de