ผลการเข้าร่วมประชุม CBD COP15 และการเริ่มดำเนินการตามกรอบความหลากหลายทางชีวภาพใหม่ของประเทศไทย
ผู้ร่วมงานจากรัฐบาลไทยและสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 โดยผู้เชี่ยวชาญของกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. ได้นำเสนอข้อมูล และมีการอภิปรายถึงข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม COP15 ตลอดจนประเด็นที่อาจส่งผลต่อประเทศไทย นอกจากนี้ การประชุมยังจัดให้มีการเสวนาเพื่อร่วมออกแบบเส้นทางและอนาคตของประเทศไทยในการดำเนินการตามกรอบคุนหมิง-มอนทรีออล รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยทั้งหมดเห็นภาพชัดเจนว่าภูมิทัศน์การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต รวมถึงบทบาทที่แต่ละหน่วยงานจะเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไป และส่งเสริมให้มีอนุรักษ์ต่อไป นอกจากนี้ เลขาธิการ สผ. ยังจัดเสวนาในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยย้ำถึงความสำคัญของการรับมือกับความท้าทายทั้งสองด้วยวิธีบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรเทาลง พร้อมส่งผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพตามที่ตั้งเป้าไว้
ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกับความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กเพจของ สผ. ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจประเด็นสำคัญเช่นนี้
เลขาธิการ สผ. บรรยายย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เกี่ยวกับโครงการ The Climate, Costal and Marine Biodiversity (CCMB)
โครงการ The Climate, Costal and Marine Biodiversity (CCMB) มีระยะเวลาดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2570 โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาสถานภาพของกรอบการดำเนินงาน รวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของประเทศไทยในการพัฒนานโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้น โครงการยังผลักดันการบูรณาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน โดยจะมีการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องครอบคลุมหัวข้อเหล่านี้ พร้อมบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ ไปพร้อมกับพัฒนาศักยภาพในระดับพื้นที่ ทางโครงการ CCMB ได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน รวมถึงร่วมงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในด้านการดำเนินงาน และด้านนโยบาย นอกจากนั้น โครงการ CCMB ยังมีบทบาทในฐานะโครงการประสานงานกลางของแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนในประเด็นเชิงเทคนิคและการเมือง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับนานาชาติ รวมถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมนีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการดำเนินงานของแผนงาน IKI ผ่านผู้ดำเนินโครงการต่างๆ ในประเทศไทย
ศุภโชค จิตต์พิศาล
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ CCMB
อีเมล:Supachok.Chittapisan(at)giz.de