ไทยเดินหน้าหนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตามเป้าหมาย 30x30
ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติร่วมกันระบุปัญหา และความจำเป็นในการดำเนินงานพื้นที่ OECM ในประเทศไทย
- นับตั้งแต่มีการรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย 30×30 ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลกในการอนุรักษ์พื้นที่บนบก ในทะเล และน้ำจืด อย่างน้อย 30% ในปี ค.ศ. 2030
- มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ (Other Effective Area Based Conservation Measures หรือ OECMs) เป็นหนึ่งในเครื่องมือภายใต้กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศน์
- ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย องค์การนอกภาครัฐ (NGOs) และองค์การระหว่างประเทศ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการและเข้าร่วมงานต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อร่วมหาแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพื้นที่ OECMs ในประเทศไทย
ภายหลังการรับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (GBF) และการเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อเป้าหมายหลักทั้ง 23 เป้าหมายของกรอบงาน รวมถึงเป้าหมายที่ 3 ซึ่งครอบคลุมเป้าหมาย 30×30 ที่มุ่งคุ้มครองพื้นที่ทางบก ทางทะเล และแหล่งน้ำบนบกอย่างน้อย 30% อย่างมีประสิทธิภาพภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) อย่างไรก็ดี นอกจากกลไกในปัจจุบัน อาทิ การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทั่วไปแล้ว ยังมีการเสนอใช้มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ (Other Effective Area Based Conservation Measures – OECMs) ให้เป็นทางเลือกที่จะช่วยให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่ OECMs จึงเป็นโอกาสดีที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานเรื่องนี้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สนับสนุนการริเริ่มใช้ OECMs ในบริบทของไทย
พื้นที่ OECMs หมายถึง “พื้นที่ที่มีการระบุขอบเขตชัดเจนว่ามีความสามารถในการบรรลุเป้าหมายและส่งผลดีกับความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาว” ในขณะที่พื้นที่คุ้มครองโดยทั่วไปจะเน้นความสำคัญด้านการอนุรักษ์เป็นที่ตั้ง พื้นที่ OECMs จะมีขอบข่ายที่กว้างกว่าและให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์เป็นเรื่องรองลงมา การคัดเลือกพื้นที่ OECM ขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละประเทศ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านจิตวิญญาณ พื้นที่ชายขอบติดกับพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ใช้งานทางการทหาร หรือซากเรือ
ภายใต้การนำของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและงานต่าง ๆ ที่เชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงผลกำไร และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึง GIZ ผ่านโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) มาร่วมหารือเกี่ยวกับปัญหา และความจำเป็นในการดำเนินการตามแนวคิดพื้นที่ OECMs ในประเทศไทย
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ณ งานวันความหลากหลายทางชีวภาพ (Bioday) 2023
ในงานวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งจัดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 มีเวทีเสวนาและการประชุมเชิงปฏิบัติมากมายที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยน หารือเรื่องการดำเนินงาน OECMs ในประเทศไทย โดยมีการตั้งคำถามในการดำเนินงานและอุปสรรค ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมได้เห็นถึงความจำเป็นในการตีความในด้านกฎหมาย เชิงเทคนิค และการดำเนินงานในขั้นต่อไป รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับหลากหลายภาคส่วนเพื่อความครอบคลุมในการพัฒนาแนวทางสำหรับการดำเนินงาน OECMs โดยคำนึงถึงบริบทด้านการอนุรักษ์ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการดำเนินงานด้านนี้เป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานกำลังเริ่มดำเนินงานอยู่
GIZ ผ่านการดำเนินโครงการ CCMB จะสนับสนุน สผ. ในการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาเพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมายระดับนานาชาติ ซึ่งจะดำเนินงานในระดับนโยบายและแผนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องที่เกี่ยวข้องกับ OECMs และการบูรณาการประเด็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าด้วยกัน
คุณจิรวัฒน์ รติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. กล่าวปาฐกถา ระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านพื้นที่ OECMs เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023
คุณลิซ่า ฮันซิงเกอร์ หัวหน้าทีมเทคนิคด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโครงการ CCMB กล่าวกับผู้ร่วมงานในนามของ GIZ ประเทศไทย
ศุภโชค จิตต์พิศาล
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ
อีเมล:supachok.chittapisan(at)giz.de