สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจับมือกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมพัฒนาพื้นที่ยมหลงด้วยมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ

- การฟื้นฟูพื้นที่ยมหลงเพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในจังหวัดหวัดแพร่ เกิดขึ้นจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้การดำเนินงานของโครงการด้านน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- รายงานให้ข้อแนะนำทางเทคนิคสำหรับการฟื้นฟูยมหลง รวมถึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำในการสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในจังหวัดแพร่ด้วยการใช้มาตรการ EbA ในการฟื้นฟูพื้นที่ยมหลง
กรมทรัพยากรน้ำนำผลจากการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ยมหลงโดยใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศไปขยายผลเพื่อดำเนินการในจังหวัดแพร่ ซึ่งการศึกษานี้จัดทำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ระหว่างการดำเนินโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Water) ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565
ในการประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดแพร่ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1 ได้นำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ยมหลง เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม นอกจากนั้น กรมทรัพยากรน้ำยังนำเสนอโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูยมหลงบริเวณตำบลห้วยหม้าย ตำบลบ้านหนุน ตำบลบ้านกลาง ตำบลสอง จังหวัดแพร่ ให้ที่ประชุมได้รับทราบ

ปัจจุบันจังหวัดแพร่กำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง การพัฒนาพื้นที่ยมหลงจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ในการบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมและความแห้งแล้ง ซึ่งทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาและร่วมมือกัน โดยผลการศึกษาของ สทนช. และ GIZ จะช่วยประเมินและกำหนดเทคนิคที่เหมาะสมในการใช้มาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ต่อการปรับปรุงพื้นที่ยมหลงเพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการศึกษานี้ได้วิเคราะห์พื้นที่ยมหลง 22 แห่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ โดยขั้นตอนแรกทีมที่ปรึกษาได้พัฒนาเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่และการเก็บรวบรวมชุดข้อมูลที่มีอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงนำเกณฑ์ต่างๆ ไปศึกษาเบื้องต้นเพื่อระบุพื้นที่ยมหลงที่มีความเหมาะสมที่สุดในการพัฒนาฟื้นฟู นอกจากนั้นยังได้สัมภาษณ์และให้ข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดไปวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรมเพื่อการฟื้นฟูยมหลงและศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์
กรมทรัพยากรน้ำได้นำผลจากรายงานนี้มาพิจารณาเพื่อดำเนินการปรับปรุงลำน้ำและทางน้ำรูปแอกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งโดยใช้บริการของระบบนิเวศที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ทั้งนี้ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยจะนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชนมาใช้เพื่อดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำยมหลงเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และบรรลุเป้าหมายของโครงการฯ ต่อไป
อัลบั้มภาพ
เกตน์พริมา แสนสุด
ที่ปรึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อีเมล: ketpharima.sansud(at)giz.de