เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 กลุ่มผู้แทนเยาวชนไทยร่วมหารือเรื่องประโยชน์ของมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ในการช่วยจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ประสบการณ์และตัวอย่างหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากต่างประเทศ’ โดยการเสวนาครั้งนี้จัดและดำเนินรายการโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยวิทยากรรับเชิญจากโครงการด้านน้ำ แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันของ GIZ
การเสวนาออนไลน์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเสวนาซึ่งประกอบด้วย 10 หัวข้อในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 50 คนจาก 22 ลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนผู้นําการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ที่สทนช.จัดขึ้นเนื่องในวันน้ำโลกประจำปีพ.ศ. 2564
กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการ EbA ที่หลากหลายซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การฟื้นฟูแม่น้ำอิซาร์ซึ่งเป็นตัวอย่างแนวทางปฏิบัติที่ดีจากประเทศเยอรมนี รวมถึงฝายมีชีวิตที่สร้างด้วยไม้ไผ่ซึ่งเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการน้ำที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานในประเทศไทย โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง เพิ่มทัศนียภาพให้สวยงามและสามารถใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนยังได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในประเทศเยอรมนี ทั้งนี้กลุ่มเยาวชนจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการวางแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการจัดการน้ำและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างยั่งยืน โดยจะมีการนำเสนอแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในงานประชุมออนไลน์วันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้นำเยาวชนจะมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนในการทำโครงการที่เยาวชนจะขับเคลื่อนต่อไป
งานเสวนาออนไลน์ซึ่งประกอบด้วย 10 หัวข้อในการบริหารจัดการน้ำนี้ถูกจัดขึ้นทุกวันศุกร์ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยมีหัวข้อต่างๆ ได้แก่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการป้องกันการพังทลายของดิน การจัดการคุณภาพน้ำ การบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย และความมั่นคงของน้ำสำหรับอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ เป็นต้น
สทนช. จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเนื่องในโอกาสวันน้ำโลก ประจำปีพ.ศ. 2564 โดยมีการกำหนดประเด็นสำหรับการจัดงานในประเทศไทย คือ ‘ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ (Valuing Water : Valuing IWRM with Youth Action) ซึ่งสทนช. ต้องการสร้างเครือข่ายเยาวชนในภาคส่วนน้ำเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในการรับมือกับปัญหาด้านน้ำของประเทศ รวมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยให้พร้อมรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ