หน่วยงานน้ำภาครัฐได้หารือเกี่ยวกับนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปฏิบัติงานในระดับชาติและส่วนภูมิภาคกับผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน ในการศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 18 – 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เป็นตัวแทนไทยเข้าร่วมการศึกษาดูงานในครั้งนี้ สทนช.ได้รับการจัดตั้งขึ้นให้เป็นหน่วยงานหลักและทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และได้ถูกแต่งตั้งเป็นหน่วยงานหลักสำหรับการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำของประเทศ
การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดการน้ำเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าการมีส่วนร่วมที่ประเทศไทยกำหนด ซึ่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการไว้อันดับต้นๆ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำ การลดปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง
ปัจจุบัน สทนช. ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคส่วนน้ำของ GIZ กำลังพัฒนาแนวคิดด้านการจัดการน้ำอย่างบูรณาการเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
สทนช. แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคส่วนน้ำของ GIZ และคณะกรรมการลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสะแกกรัง ได้พัฒนาแผนแม่บทลุ่มแม่น้ำ ที่จะมีการบูรณาการข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลความเสี่ยง และการแก้ไขปัญหาโดยใช้ระบบนิเวศเป็นฐาน เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนในระดับประเทศ การนำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาคส่วนน้ำในขั้นต่อไปนั้น จะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การพัฒนาตัวชี้วัดและวิธีการในการติดตามและประเมินผลมาตรการปรับตัวในการจัดการน้ำ ตลอดจนวิธีการบูรณาการและการขับเคลื่อนด้านการเงินกับภาคส่วนน้ำ
เมื่อพิจารณาถึงลักษณะหรือบทบาทที่เชื่อมโยงกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวแล้ว จึงมีคณะผู้แทนไทยจากภาครัฐในหลายภาคส่วน ได้แก่ ด้านสุขภาพ การวางผังเมือง และภาคส่วนน้ำเข้าร่วม
การหารือร่วมกันระหว่างสถาบันต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญ ไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในทุกภาคส่วนที่กำลังนำเอาแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่กระบวนการวางแผนในระดับชาติ ตามเป้าการมีส่วนร่วมที่ประเทศไทยกำหนด