ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมพร้อมด้านการปรับตัวเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติสามารถรับมือกับผลกระทบด้านลบต่างๆ ได้ ในขณะเดียวกันการเตรียม ตรวจสอบ และบันทึกข้อมูลกิจกรรมด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบในทุกภาคส่วนก็มีความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการและการดำเนินงานด้านการปรับตัว อย่างไรก็ตามนานาประเทศยังมีข้อจำกัดในการเตรียมข้อมูลกิจกรรมด้านการปรับตัวฯ เหล่านี้
ภาคส่วนน้ำถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนหลักด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำจึงสนับสนุนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา ‘เครื่องมือจำแนกโครงการในภาคส่วนน้ำที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกโครงการน้ำที่มีคุณสมบัติในการเป็นโครงการด้านการปรับตัวฯ “เมื่อเครื่องมือนี้ได้ถูกนำมาปรับใช้ในกระบวนการการจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว เครื่องมือจะช่วยสนับสนุนการรายงานการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และกรอบความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุนตามข้อตกลงปารีส” มร. ไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าว
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 โครงการฯ ได้พัฒนาเครื่องมือและทดสอบความถูกต้องของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งมอบเครื่องมือให้แก่สทนช. โดยที่หน่วยงานด้านน้ำของไทยสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการจำแนกโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) โครงการด้านการปรับตัว 2) โครงการที่ส่งเสริมการปรับตัว และ 3) โครงการบริหารจัดการน้ำทั่วไป
การแสดงผลวิเคราะห์ของเครื่องมือ สามารถทำได้หลายวิธีเพื่อตอบสนองความสนใจของผู้กำหนดนโยบายในหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมไปถึงการแสดงผลตามงบประมาณรวมของโครงการด้านการปรับตัว จำนวนโครงการด้านการปรับตัวที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนที่ตั้งของโครงการซึ่งจำแนกตามเขตการปกครอง ลุ่มน้ำ หรือพื้นที่บริเวณต้น กลาง และปลายน้ำ
เกณฑ์คุณสมบัติในการประเมินที่สำคัญ ประกอบไปด้วย การระบุความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในอดีตและอนาคต เป้าประสงค์ของโครงการเพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเปิดรับต่อภัยจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของมนุษย์ เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเครื่องมือนี้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่จากแหล่งต่างๆ ในกระบวนการวิเคราะห์ แต่ก็ยังมีข้อมูลบางส่วนที่จะทำให้การวิเคราะห์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและต้องจัดเก็บเพิ่มเติมในอนาคต
เนื่องจากเครื่องมือสามารถนำเสนอข้อมูลโครงการด้านน้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สทนช. จึงมีแผนที่จะใช้ผลลัพธ์ดังกล่าวในการตั้งเกณฑ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการคัดเลือกและการจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการวางแผนและจัดทำงบประมาณโครงการของภาคส่วนน้ำ
นอกจากนี้ สทนช. ยังมีแผนที่จะผนวกเครื่องมือนี้เข้ากับ ‘Thai Water Plan’ ซึ่งเป็นระบบจัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต