ในประเทศไทย หลายๆ พื้นที่ต่างประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต่างกันตรงที่บางพื้นที่ประสบทั้งภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือดินถล่มที่เกิดขึ้นอย่างหนัก และในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบเช่นกันไม่มากก็น้อย ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การจัดการน้ำ โครงสร้างการกักเก็บน้ำ การระบายน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งนับวันจะเห็นมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลกระทบที่ทวีความรุนแรงขึ้น
รัฐบาลไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มและขยายแนวทางปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อลดความความเสียหายและความสูญเสียจากภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเมื่อวันที่ 10 – 11 ตุลาคม ปีพ.ศ.2561 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำ และโครงการด้านน้ำ ซึ่งเป็นแผนภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ GIZ ได้จัดประชุมวางแผนปฏิบัติการครั้งแรก โดยมีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเข้าร่วม เพื่อกำหนดความสำคัญของแผนปฏิบัติการของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความเข้าใจถึงบทบาท โครงสร้างและแนวทางความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการระดมสมองในเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การคัดเลือกพื้นที่นำร่อง การวิเคราะห์ความเสี่ยง และปัจจัยความสำเร็จของโครงการ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ คือ เกิดการจัดตั้งคณะทำงานรวมทั้งการจัดทำแผนกิจกรรม โครงการด้านน้ำได้จัดกิจกรรมต่อไปคือ การจัดสัมมนาด้านการตรวจสอบ รายงาน และประเมินผลเพื่อพัฒนาการจัดการข้อมูล และข่าวสารเกี่ยวกับน้ำเพื่อการปรับตัวและการประเมินพื้นที่ล่วงหน้าในสามจังหวัด คือ อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา และเพชรบุรี ก่อนเริ่มดำเนินโครงการจริงในระดับท้องถิ่น
นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า “ผมเชื่อว่า โครงการจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อให้มีการลงทุนในมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศในพื้นที่นำร่อง การพัฒนากลไกติดตามและรายงานผลเพื่อวัดประสิทธิภาพของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรโดยการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ…
การประชุมในวันนี้นับว่าเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสให้ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมวางแผนกิจกรรมที่จะดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมดำเนินงานต่อไป”
โครงการด้านน้ำอยู่ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ GIZ และได้รับเงินสนับสนุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งจะคำนึงถึงแนวทางการใช้ศักยภาพของระบบนิเวศในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการฯ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และมีการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก