สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และโครงการด้านน้ำภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Water) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ กำลังส่งเสริมและให้ความสำคัญในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับมือต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการแนะนำการใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ที่ใช้ธรรมชาติรักษาธรรมชาติ หรือใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม น้ำแล้ง ในระดับการวางแผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ และการวางนโยบายด้านน้ำของประเทศ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2563 สทนช. ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ (Joint Research Partnership) และ GIZ ได้พัฒนาวิธีการการติดตามและประเมินผลประโยชน์จากการใช้มาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA)
เพื่อต่อยอดการดำเนินงาน ในระหว่างเดือนกรกฏาคมจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งนี้ จะทำงานร่วมกันเพื่อหาตัวชี้วัดที่เหมาะสม ได้แก่ ด้านอุทกศาสตร์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ประเมินผลกระทบและผลประโยชน์จาก “ฝายมีชีวิต (ฝายสร้างจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นได้แก่ ไม้ไผ่ หรือรากของต้นบันยัน)” “พื้นที่กักเก็บน้ำ (เช่น แก้มลิง)” และ“พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands)”
ทีมมหาวิทยาลัยนำร่อง 2 ทีม ได้แก่ ทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้พัฒนาต้นแบบด้านวิธีการติดตามและประเมินผลของพื้นที่หน่วงน้ำ (Retention areas) โดยมีพื้นที่น้ำร่องบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่างในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย ส่วนทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาต้นแบบด้านวิธีการติดตามและประเมินผลกระทบและประโยชน์ของฝายมีชีวิต โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา
ทั้งสองทีม ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีการจัดประชุมแนะนำโครงการของทีมมหาวิทยาลัยนำร่องทั้ง 2 ทีม ที่ สนทช. กรุงเทพฯ และมีการลงพื้นที่ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานราชการในจังหวัด และหารือกับผู้นำชุมชน เพื่อพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลร่วมกัน
ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ทางทีมจะมีการทดลองใช้วิธีการติดตามและประเมินผล (M&E) มาตรการ EbA โดยอาศัยระบบดิจิทัล เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการในระยะยาวและเข้ารับคำแนะนำในการใช้เครื่องมือต่างๆ นอกจากนี้ นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยภาคีเครือข่าย ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ (Joint Research Partnership) ก็จะได้มีโอกาสเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเก็บข้อมูล และได้ทดลองปฏิบัติวิธีการติดตามและประเมินผลในพื้นที่นำร่องควบคู่อีกด้วย