เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานที่รับผิดชอบนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลักด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ร่วมหารือเชิงนโยบายเพื่อมุ่งจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านการบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำและการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงเทพฯ
การหารือ เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินการตามแผนปรับตัวแห่งชาติ (NAP) และความร่วมมือเพื่อการจัดการน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนลงสู่ระดับลุ่มน้ำและชุมชนเพื่อผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ทางวิชาการระหว่างสผ. และสทนช. เพื่อจัดทำบทสรุปนโยบายร่วมกันสำหรับเป็นแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานในภาคส่วนน้ำ จัดทำแผนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในระดับชาติ อาทิ แผนปรับตัวแห่งชาติ – แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ตลอดจนสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ปฏิบัติงานในระดับท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าเกิดการบูรณาการข้อมูลสภาพภูมิอากาศไว้ในการวางแผนและการจัดการลุ่มแม่น้ำ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการบูรณาการดังกล่าวในส่วนของตัวเลือกมาตรการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันว่าควรเร่งส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการสีเขียว หรือมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ที่มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูและการจัดการธรรมชาติหรือระบบนิเวศอย่างยั่งยืน และการใช้มาตรการไฮบริด (การผสมผสานมาตรการ EbA และ ‘มาตรการสีเทา’ ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างทางวิศวกรรมมากขึ้น) ซึ่งมาตรการทั้งสองแบบนี้ สามารถเป็นตัวเลือกที่สอดรับกับโครงสร้างทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความเข้มแข็งทั้งในภาคส่วนน้ำและภาคส่วนอื่นๆ อาทิ ภาคการเกษตร ภาคสาธารณสุข เป็นต้น
“ผมคิดว่าในฐานะที่เป็นหน่วยงานระดับนโยบาย สทนช. เองต้องทำการขับเคลื่อนนโยบายผ่านประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับ สผ. ซึ่งมีวิธีการ (การปรับตัว) มากมาย รวมถึงกระบวนการ กลไกต่างๆ เมื่อเรามีการใช้วิธีการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับระดับนานาชาติก็จะทำให้เราได้รับการยอมรับในโอกาสต่อไปด้วย” ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.
ในส่วนของการใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการสนับสนุนด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลความเสี่ยงจากหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการบูรณาการการปรับตัวในทุกระดับและทุกหน่วยงานในภาคส่วนน้ำของประเทศไทย โดยที่ประชุมเน้นย้ำว่าการสร้างความตระหนักและการเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงาน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ GIZ ได้สนับสนุนกระบวนการดังกล่าว โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สทนช. ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่จะช่วยให้การผลักดันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผลของการหารือเชิงนโยบาย ถูกนำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการอีกสองครั้งเมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดโดย สทนช. ภายใต้การสนับสนุนของ GIZ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนน้ำและเจ้าหน้าที่ สทนช. ในระดับปฏิบัติการเข้าร่วม เพื่อมารับทราบเกี่ยวกับกลยุทธ์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาคส่วนน้ำที่สามารถนำมาปรับใช้กับงานของพวกเขา นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีการนำเสนอตัวอย่างการจัดการน้ำที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวคิดการใช้มาตรการทางระบบนิเวศจากเมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ตลอดจนเครื่องมือ“ 5 มิติ” สำหรับการประเมินการดำเนินงานการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับนานาชาติและสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของเยอรมนี มาขับเคลื่อนการบูรณาการการปรับตัวในภาคส่วนน้ำของประเทศไทย