การตัดสินด้วยหลักฐาน เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน – ไทย ออสเตรเลีย และเยอรมนี ร่วมกันปรับปรุงการจัดการข้อมูลน้ำ การบูรณาการติดตามและประเมินผลสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำของไทย
วิกฤตน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการในการจัดการข้อมูลที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้หลักฐานในการตัดสินใจ ประสบการณ์ต่างๆ จากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนนั้น สามารถพิสูจน์หรือเชื่อถือได้ด้วยการตัดสินด้วยหลักฐาน เช่น ข้อมูลน้ำที่น่าเชื่อถือ การตั้งค่ามาตรฐานข้อมูลและสารสนเทศในหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการบูรณาการข้อมูลด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภายใต้การสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และโครงการด้านน้ำ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูลหรือการจัดการข้อมูลในองค์กร และการปรับตัว การติดตามและการประเมินผลในภาคส่วนน้ำ ที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องความต้องการข้อกำหนดในภาคส่วนน้ำของไทย เพื่อบูรณาการการติดตามและประเมินผลของมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับแนวทางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบการกำกับดูแลข้อมูลโดยรวม ตลอดจนเพื่อช่วยให้ภาคส่วนน้ำของไทย สามารถดำเนินงานด้านปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางหรือข้อกำหนดรายงานภายใต้ข้อตกลงปารีส และกรอบข้อกำหนดอื่นๆ ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น กรอบการดำเนินงานเซนได เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการจะถูกนำมาใช้ในการระบุข้อกำหนดและตัวชี้วัด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของภาคส่วนน้ำในแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ การติดตามและประเมินผลของการจัดการน้ำ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ จะถูกกำหนดเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนลุ่มน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งมีลุ่มน้ำยมและสะแกกรังเป็นพื้นที่นำร่อง
นอกจากนี้ จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของไทย ในการพัฒนาระเบียบวิธีในระดับท้องถิ่นโดยใช้ระบบดิจิทัลในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการปรับตัวตามระบบนิเวศ
นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) กล่าวว่า
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารทรัพยากรน้ำ เนื่องจากทำให้รูปแบบฝน การกระจายตัวของฝน และการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป เกิดความผันผวนสูงขึ้น การบริหารจัดการน้ำยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ดังนั้น สทนช. จึงให้ความสำคัญต่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ หรือระดับภูมิภาค ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำเพื่อการพัฒนาด้านการติดตามและประเมินผลในทุกภาคส่วน”