สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Water) พร้อมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ร่วมกันจัด “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (IWRM) และการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ระยะที่ 2 ขึ้น ณ ศูนย์อบรม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการภาคส่วนน้ำในระดับลุ่มน้ำมีความรู้และเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 ท่านจากหน่วยงานภาคส่วนน้ำ เช่น สทนช. กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ
โครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงแนวคิด กระบวนการ และการปฏิบัติในเรื่องการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CRVA) การใช้มาตรการ NbS และ EbA รวมทั้งโครงสร้างสีเขียว (Green infrastructure) เพื่อให้เกิดการบูรณาการเข้ากับการวางแผนและมีเครื่องมือไปใช้ในระดับท้องถิ่น ความรู้เกี่ยวกับวิธีการและการดำเนินการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น สามารถนำ CRVA ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน พร้อมทั้งดำเนินงานด้านการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้โครงการฯ ยังส่งเสริมการพัฒนาแผนการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องการประเมินความเสี่ยงและมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 2 ได้เรียนรู้ CRVA และวิธีการลดความเสี่ยงที่ทำได้โดยลดภัยอันตราย ลดความล่อแหลม และลดความเปราะบาง รวมทั้งแลกเปลี่ยนการนำแนวคิดเรื่องการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับมาตรการของภาครัฐ การสร้างความรับรู้เรื่องการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศแก่ประชาชนในลุ่มน้ำ และการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ไปปรับใช้ในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำสะแกกรัง นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้ถึงหลักเกณฑ์ของการใช้ NbS และ EbA เช่น ต้องจัดการกับความท้าทายทางสังคม เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเชื่อมโยงทางภูมิทัศน์ และมีความยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมได้ร่วมเสนอแนวทางในการผลักดันมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศให้มีการปฏิบัติจริงในภาคส่วนน้ำไทย เนื่องจากมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศต้องใช้องค์ความรู้จากหลากหลายสาขา และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับการตัดสินใจ การวางแผนพัฒนา การร่วมปฏิบัติการ และการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมในลุ่มน้ำ
“จากความรู้ด้านความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ EbA ส่งผลให้เราสามารถผลักดันการออกแบบแผนการบริหารจัดการลุ่มน้ำ แนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำไปปรับใช้ในการพิจารณาโครงการต่างๆ ได้ในอนาคต” นายธีรภัทร เทพพันธ์ ประธานองค์กรผู้ใช้น้ำอำเภอทัพทัน ลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานีกล่าว
โครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (IWRM) และการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระยะด้วยกัน โดยโครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 – 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งมุ่งเน้นถึงเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำ รวมถึงประโยชน์ของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของโครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 1 เพิ่มเติมได้ที่นี่
ในส่วนของโครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 3 คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยจะมีเนื้อหาด้านเทคนิคที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นในเรื่องกระบวนการ CRVA การพัฒนาแผนบริการจัดการลุ่มน้ำที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการคัดเลือก ออกแบบ และนำมาตรการ EbA ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมาปรับใช้