ความเป็นมา
รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้่ จะยึดตามเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรมาผลิตสินค้าและเมื่อเลิกใช้แล้วจะถูกทิ้งไม่นำกลับมาใช้อีก ซึ่งวัสดุพลาสติกส่วนใหญ่มีการจัดการไม่ดี และถูกกำจัดเป็นของเสียหลังจากได้ใช้งานไปในระยะเวลาสั้นๆ การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) ก่อให้เกิดมลภาวะต่อน้ำและทะเลอย่างมาก ด้วยราคาวัตถุดิบที่ต่ำ ความต้องการในการผลิต การขาดความตระหนักรู้และทางเลือกอื่นๆ ที่ขาดหายไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียตระหนักดีว่าการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการผลิตและการค้า (เช่น การลด การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล) อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) จะดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับแผนห้าปีที่ 12 ของประเทศมาเลเซีย (พ.ศ. 2564 – 2568) และแผนงานพลาสติกของประเทศไทย (พ.ศ. 2561 – 2573) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การลดหรือห้ามใช้ผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (SUP) โดยใช้วัสดุอื่นทดแทนเป็นทางเลือกที่มีความทนทาน ซ่อมแซมได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในประเทศอินโดนีเซีย โครงการ CAP-SEA จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพลาสติกแห่งชาติ (NPAP)
วัตถุประสงค์
โครงการมีเป้าหมายเพื่อการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
แนวทางการดำเนินงาน
พัฒนากรอบโครงสร้างสถาบัน: โครงการมีการแนะนำและสนับสนุนพันธมิตรและผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากรอบและกลยุทธ์ด้านกฎระเบียบเศรษฐกิจหมุนเวียนและตลาดรีไซเคิล รวมถึงการนำระบบไปใช้เพื่อขยายบทบาทและความรับผิดชอบของผู้ผลิตในประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ ทางโครงการยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เช่น การพัฒนาการออกแบบเชิงนิเวศ (eco-design) การออกแบบแนวทางปฏิบัติ (guidelines) และการกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพของวัสดุ (material efficiency criteria) สิ่งเหล่านี้สามารถได้รับการรับรองด้วยฉลากสิ่งแวดล้อมและได้รับการสนับสนุนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะอย่างยั่งยืน
พัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่: โครงการสนับสนุนพันธมิตรของประเทศไทยและมาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในการพัฒนารูปแบบธุรกิจเชิงนวัตกรรมและมีความยั่งยืนสำหรับการป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) และ/หรือการเตรียมการนำกลับมาใช้ใหม่
- โครงการนำร่อง: โครงการมีการออกแบบและดำเนินโครงการนำร่องโดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (SUP) กับเทศบาลในท้องถิ่น
- การจัดการความรู้: โครงการวิเคราะห์บทเรียนที่ได้รับและเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดไปยังสถาบันที่เกี่ยวข้อง
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- จัดตั้งคณะทำงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับแนวทางความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) (เฉพาะในประเทศมาเลเซียเท่านั้น) การพัฒนาการออกแบบเชิงนิเวศ (Eco Design) การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design for Recycling) และโครงการนำร่องในพื้นที่ในประเทศไทยและมาเลเซีย
- จัดทำเอกสารแนะนำนโยบายเกี่ยวกับมาตรการต้นน้ำสำหรับการลดการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- เผยแพร่เอกสารการศึกษาร่วมกับสถาบันวิจัย Öko Institut e.V. ซึ่งเกี่ยวกับตัวเลือกนโยบายการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล พลาสติกชีวภาพและย่อยสลายได้ทางชีวภาพ วัสดุทางเลือกสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ข้อควรพิจารณาสำหรับการจำแนกประเภทบรรจุภัณฑ์)
- จัดงานเสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ 7 ครั้ง กับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหัวข้อที่โครงการดำเนินการ
- จัดการฝึกอบรมเชิงลึก 6 ครั้ง เกี่ยวกับนโยบาย และเครื่องมือการป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
- พัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการนำพลาสติกและบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ 2 ธุรกิจ โดยร่วมมือกับ Enviu ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนในการนำพลาสติก และบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ในประเทศมาเลเซีย (Tapauware: ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ซ้ำได้สำหรับการจัดส่งอาหาร, FlexiFill: วิธีการเติมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน)
- ทำงานร่วมกับหน่วยงานในระดับท้องถิ่นในประเทศไทย (ภูเก็ต) มาเลเซีย (ชาห์อลาม) และอินโดนีเซีย (จาการ์ตา) เพื่อออกแบบ และดำเนินโครงการนำร่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ขณะนี้ ได้เสร็จสิ้นการประเมินขั้นพื้นฐาน (Baseline Assessment) และจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในเขตเทศบาลโครงการนำร่อง
ประเทศ
ไทย มาเลเซีย และอินโดนิเซีย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
ประเทศไทย: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ประเทศมาเลเซีย: หน่วยวางแผนเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี (EPU)
ประเทศอินโดนีเซีย: หน่วยประสานงาน กระทรวงการเดินเรือและการลงทุน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม พ.ศ. 2562 – มีนาคม พ.ศ. 2566