กรุงเทพมหานคร จับมือ GIZ ลงนามข้อตกลงโครงการ CAP SEA ร่วมเดินหน้าลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างยั่งยืน
(จากซ้ายไปขวา) คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย, นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร
- กรุงเทพมหานครและ GIZ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการปัญหามลพิษจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพื่อให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองที่ยั่งยืนและน่าอยู่
- ความร่วมมือนี้จะเน้น 4 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาคู่มือการใช้ระบบ Deposit Return Scheme (DRS) ในงานเทศกาล การเตรียมความพร้อมในการรองรับระบบ DRS ผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ การพัฒนาเครื่องมือเพื่อส่งเสริมคุณภาพน้ำดื่ม และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับโรงเรียนในพื้นที่
- ข้อตกลงโครงการ CAP SEA สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีที่มีพันธกิจร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการขยะ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, กรุงเทพมหานคร – กรุงเทพมหานครลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ (จีไอแซด) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบการทำงานของโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกของ GIZ ที่มีชื่อว่า “Environmental Protection Worldwide” ดำเนินการในนามของกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) โดยความร่วมมือนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น
โครงการ CAP SEA (แคป ซี) มีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยโครงการฯ ได้สนับสนุนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนปฏิบัติการ และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ สำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเน้นไปที่การรับมือกับมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะพลาสติก ผ่านการแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570)
ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กรุงเทพมหานคร และ GIZ ร่วมดำเนินงานใน 4 แนวทางต่อไปนี้
- การพัฒนาแนวปฏิบัติในการลดและป้องกันพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในระดับเมือง ตามหลักการการเรียกเก็บค่ามัดจำจากผู้ซื้อ และจะคืนเงินเมื่อนำผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์นั้นมาคืน ณ จุดที่กำหนด (Deposit Return Scheme – DRS) โดยจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในงานอีเวนต์หรืองานเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดในกรุงเทพมหานคร
- การศึกษาประเด็นการเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม (Preconditions) สำหรับการจัดตั้งระบบDRS ในระดับเมือง โดยเฉพาะการคืนขวด PET ผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ
- การพัฒนาข้อเสนอแนะสำหรับการใช้และบำรุงรักษาระบบเติมน้ำดื่มสาธารณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในด้านสุขอนามัย
- การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดและป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
โดยความสำเร็จของการดำเนินงานจะถูกวัดและประเมินผลผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกของโครงการฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในไทยและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป
ฮันส์-อูลริช ซืดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
คุณฮันส์–อูลริช ซืดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีอันยาวนานและประสบผลสำเร็จว่า “ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เราได้ร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเยอรมันในวาระครบรอบ 160 ปี ภายใต้แนวความคิด “พันธมิตรเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน” โดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานในหลากหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การบริโภคที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนครบวงจร”
นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจาก GIZ “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ถือเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติกและขยายต่อยอดการดำเนินการของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของเมือง เพื่อมุ่งให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน”
คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีสำหรับความร่วมมืออันยาวนาน และเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและ GIZ ในการรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม “ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปีในประเทศไทย GIZ มีสถานะที่แข็งแกร่งในประเทศ การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของ GIZ ที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมในระดับเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวทาง นโยบาย โมเดลธุรกิจ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด กรุงเทพมหานครจะได้รับข้อมูลเชิงลึกและเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ข้อมูล ทักษะการปฏิบัติ และประสบการณ์”
(จากซ้ายไปขวา) คุณพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร, คุณทวีพร โชตินุชิต รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย, ฮันส์-อูลริช ซืดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย, คุณวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร, คุณไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย, คุณอัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการ CAP SEA, คุณวรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม, คุณยุพดี จรุงกลิ่น หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา
โครงการ CAP SEA (แคป ซี) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก “Environmental Protection Worldwide” ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเทศพันธมิตร และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) ภายใต้กรอบของการสนับสนุน “Export Initiative Environmental Protection” โดย EXI ตั้งเป้าที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยยิ่งขึ้น และพัฒนาตลาดให้มีความพร้อมต่อการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในระยะยาวเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่เป็นนวัตกรรมในประเทศพันธมิตร (ไทย มาเลเซีย จอร์แดน อินเดีย และยูเครน) โครงการนี้จะต่อยอดความสำเร็จในอดีต พร้อมสานต่อความตั้งใจในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในระดับเมือง โดยจะดำเนินการจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
ติดตามข้อมูลของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ทาง https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/the-collaborative-action-for-single-use-plastic-prevention-in-southeast-asia-cap-sea/ บนแพลตฟอร์ม Greentech Knowledge Hub ของ Export Initiative Environmental Protection: https://greentechknowledgehub.de และที่เว็บไซต์ของ EXI ที่ https://www.exportinitiative-umweltschutz.de/
คุณอัลวาโร่ ซูริต้า
ผู้อำนวยการโครงการ CAP SEA
อีเมล:alvaro.zurita(at)giz.de