โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ดำเนินงานสำเร็จลุล่วงในประเทศไทยและมาเลเซีย
หน่วยงานร่วมดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ที่มีส่วนร่วมกับโครงการ CAP SEA 1.0 ได้รับใบเกียรติบัตรจากกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศมาเลเซีย (ภาพ: นาดีราห์ อับดุลมานาฟ, GIZ)
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA – Collaborative Actions for the Prevention of Single-Use Plastics in South-East Asia) ได้ดำเนินการสนับสนุนประเทศมาเลเซียและไทย ในการพัฒนาแนวนโยบาย แผนการดำเนินงาน รวมถึงการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและขยะบรรจุภัณฑ์
สำหรับประเทศมาเลเซีย โครงการ CAP SEA ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2564 – พ.ศ. 2568) และได้สนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในการร่างกรอบนโยบายการออกแบบเชิงนิเวศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรจากผลิตภัณฑ์ในตลาดมาเลเซีย ภายใต้การนำของสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ (Economic Planning Unit: EPU) ร่วมกับพันธมิตรของโครงการ ได้แก่ สถาบันวิจัยมาตรฐานและอุตสาหกรรมแห่งชาติ (The Standard and Industrial Research Institute of Malaysia: SIRIM) และกระทรวงเพื่อการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น (The Ministry for Local Housing and Development: KPKT) นอกจากนี้ โครงการ CAP SEA ยังจัดการฝึกอบรมที่ปรึกษาทางเทคนิคให้แก่ผู้กำหนดนโยบายในการร่างกรอบนโยบายหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดทิศทางสำหรับการดำเนินงานขั้นต่อไป สำหรับการดำเนินงานของโครงการ CAP SEA ในระยะที่ 1 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีการจัดการประชุมเพื่อฉลองความสำเร็จให้แก่หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมดำเนินงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทย โครงการ CAP SEA สนับสนุนความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับปัญหามลพิษจากพลาสติกผ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรม โดยสรุปแล้ว โครงการได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามเสาหลัก C ของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Development: BCG) ผ่านการพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ครอบคลุมการป้องกันขยะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าว ได้รับการรับรองโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ที่รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี
เพื่อเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก โครงการ CAP SEA ได้พัฒนาการออกแบบอุตสาหกรรมสำหรับมาตรฐานการรีไซเคิล และร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการจัดทำมาตรฐานการออกแบบเพื่อการรีไซเคิลสำหรับผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติกชนิด PET ภาชนะพลาสติกชนิด HDPE รวมถึงถ้วยและถาดพลาสติกชนิด PP หลังปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดย สมอ. จะรับรองมาตรฐานดังกล่าวมาใช้เป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยต้องอ้างอิงมาตรฐานนี้ในการทำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้น
การฝึกอบรมด้านเทคนิคให้แก่ผู้กำหนดนโยบายจากกระทรวงเพื่อการพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่างกรอบนโยบายหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) สำหรับประเทศมาเลเซีย (ภาพ: นาดีราห์ อับดุลมานาฟ, GIZ)
นอกจากนี้ โครงการ CAP SEA ยังสนับสนุนการจัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ผ่านโครงการนำร่องและการร่วมมือกับท้องถิ่น สำหรับประเทศมาเลเซีย ทางโครงการสนับสนุนการจัดตั้งชุมชนปลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่อาคารสภาเมืองชาห์อลาม (Majilis Bandaraya Shah Alam: MBSA) และที่โครงการนำร่องอพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัยวิสตาอะลัม (Vista Alam) โดยทาง MBSA ได้เริ่มมาตรการจัดการพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวด้วยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในอาคารของตนเอง ไม่แจกขวดน้ำพลาสติกระหว่างการประชุม และจัดเตรียมตู้กดน้ำภายในอาคารให้มากขึ้น รวมถึงใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้แทนที่กล่องใส่อาหารและช้อนส้อมพลาสติก ส่งผลให้ชุมชนนำร่องซึ่งมีที่พักอาศัย 1,000 ยูนิต และธุรกิจค้าปลีก 30 แห่ง รวมถึงธนาคารและร้านอาหาร ต่างค่อย ๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในหนังสือเวียนจาก MBSA เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และนำระบบการ “ใช้ซ้ำ” มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงร้านค้าจะไม่แจกจ่ายถุงพลาสติกอีกต่อไป นอกจากนี้ MBSA ยังสนับสนุนร้านอาหารที่มีมาตรการส่งเสริมการใช้ซ้ำให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย และกำลังขยายพื้นที่โครงการดี ๆ นี้ไปยังมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมารา (Universiti Teknologi Mara) และโรงเรียนนานาชาติดวีเอมัส (Dwi Emas) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของชาห์อลามมากขึ้น
สมาชิกปฏิบัติงานเฉพาะกิจของ MBSA ถ่ายรูปกับป้ายประชาสัมพันธ์ด้านหน้าอาคาร โดยสมาชิกปฏิบัติฯ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างต่อเนื่องแก่ชุมชนที่ Vista Alam (ภาพ: นาดีราห์ อับดุลมานาฟ, GIZ)
สำหรับประเทศไทย โครงการ CAP SEA สนับสนุนจังหวัดและเทศบาลนครภูเก็ตในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทั้งนี้โครงการยังทำงานร่วมกันกับภาคธุรกิจต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และตลาด เพื่อพัฒนามาตรการและข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมที่ภาคธุรกิจเหล่านี้ สามารถนำไปปฏิบัติได้
พิธีมอบเกียรติบัตรให้กับพนักงานโรงแรมที่เข้าร่วมการฝึกอบรม “Green Champion” ด้านมาตรการป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic Prevention) ในจังหวัดภูเก็ต, (ภาพ: อนุสรา แท่นพิทักษ์, GIZ)
จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการ CAP SEA ระยะที่ 1 ทางโครงการจึงเริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 โดยโครงการ CAP SEA จะยังคงสนับสนุนประเทศมาเลเซียเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการออกแบบเชิงนิเวศและสนับสนุนการพัฒนากรอบกฎหมาย EPR ต่อไป สำหรับประเทศไทยนั้น โครงการ CAP SEA จะสนับสนุนความพยายามของกรุงเทพมหานครที่ต้องการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และดำเนินงานด้านการออกแบบเพื่อการรีไซเคิลต่อไป
โครงการ CAP SEA ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (German Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation, Nuclear Safety and Consumer Protection: BMUV) และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก “Export Initiative Environmental Protection” ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเทศพันธมิตร
ติดตามข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้ที่นี่: The Collaborative Actions for Single-Use Plastic Prevention in Southeast Asia (CAP SEA) – German International Cooperation Based in Bangkok (thai-german-cooperation.info)
และทางแพลตฟอร์ม Greentech Knowledge Hub ของ Export Initiative Environmental Protection: https://greentechknowledgehub.de
คริสตอฟเฟอร์ บริค
หัวหน้าโครงการ CAP SEA
อีเมล: christoffer.brick(at)giz.de
ข่าวที่เกี่ยวข้อง