เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 องค์กรมากกว่า 30 แห่งได้เข้าร่วมงานเปิดตัวออนไลน์ “โครงการต้นแบบลดการใช้พลาสติกในจังหวัดภูเก็ต” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการร่วมกันลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญในจังหวัดภูเก็ตและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับประเทศ ร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินงาน พร้อมกับเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี ในระดับสากล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทรัพยากรทางธรรมชาติของภูเก็ตถูกคุกคามจากขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use-Plastic: SUP*) และท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะภูเก็ตลดลงเป็นอย่างมากและก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ SMEs และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้เล็งเห็นโอกาสในการพิจารณาถึงการจัดการกับมลพิษพลาสติกกันอย่างจริงจัง โดยใช้มาตรการป้องกันต่างๆ ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน
โครงการต้นแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเป็นกิจกรรรมหนึ่งภายใต้โครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมของสถาบันต่างๆ อีกมากกว่า 30 แห่ง ทั้งจากภาครัฐ ธุรกิจโรงแรม ตลาด ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และคลังสมอง (Think Tanks) จากภาคเอกชน ซึ่งการดำเนินงานจะประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยจะดำเนินการไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565
ปัจจุบัน โครงการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล Baseline ของการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาจะช่วยให้หน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทราบถึงปริมาณขยะพลาสติกและสามารถกำหนดเป้าหมายในการป้องกันและลดการใช้ต่อไป
ในการนำเสนอภายใต้หัวข้อ “ตัวอย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาของเทศบาลภูเก็ตและแผนในระยะต่อไป” นางสาวอรไพลิน ตระกูลปริพนธ์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ได้กล่าวว่า “ดิฉันอยากให้นโยบายและมาตรการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นนโยบายหลักของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเน้นย้ำและกระตุ้นเตือนให้ทุกคนร่วมมือ ร่วมใจลดการใช้พลาสติก เช่น งดใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว โดยหันมาใช้วัสดุทดแทนหรือถุงผ้าแทน”
ภูเก็ตได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่อง โดยผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความพร้อมของหน่วยงานในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด ชุมชนธุรกิจท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ในช่วงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมนีจากสถาบัน Öko-Institut ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาและทำการวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แนะนำหลักการและตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกในเมืองต่างๆ ในยุโรป สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ อาทิ การจัดเก็บภาษีพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว** การส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ ภาษีหลุมฝังกลบและการเผา และระบบการจ่ายค่าขยะตามปริมาณที่ทิ้ง (Pay-As-You-Throw)
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอทางเลือกเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ทดแทน ในที่ประชุมจึงได้มีการนำเสนอ “แค็ตตาล็อกออนไลน์วัสดุทดแทน” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาขึ้น โดย Global Shapers Bangkok เพื่อรวบรวมสตาร์ทอัพที่ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากวัสดุปลอดพลาสติกที่หาได้ในท้องถิ่น โดยคาดว่า e-catalogue นี้จะช่วยให้ประชาชน ธุรกิจ และองค์กรมองหาหรือซื้อสินค้าที่ใช้วัสดุทดแทนการใช้พสาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
ภายหลังการศึกษาข้อมูล Baseline จะมีการหารือร่วมกันกับพันธมิตรของโครงการ เพื่อตั้งเป้าการลดปริมาณขยะ โดยภายหลังการสิ้นสุดการดำเนินโครงการต้นแบบนี้ โครงการ CAP SEA คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจังหวัดภูเก็ตจะลดน้อยลง การกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนจะมีต้นทุนที่ลดลง และจังหวัดภูเก็ตจะยังคงสะอาดและงดงามเช่นเดิม