ความเป็นมา
ในการประชุม COP26 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายสองเป้าหมาย คือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนออกจากภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Variable Renewable Energy – vRE) เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งยังต่ำกว่าศักยภาพอยู่มาก
ศักยภาพของพลังงาน vRE ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่มาก และภาคที่มีการใช้พลังงานเข้มข้น เช่น ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ก็ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก การนำ vRE เข้ามาใช้และการเปลี่ยนระบบพลังงานของภาคผู้ใช้พลังงานยังถูกจำกัดโดยอุปสรรคบางอย่างในภาคพลังงานไทย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานและวางแผนระบบพลังงานที่ขาดความยืดหยุ่น หรือทรัพยากรทางเทคโนโลยีและทักษะในการวางแผนเชิงบูรณาการที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการมุ่งสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน ตลาดและหน่วยงานกำกับดูแลที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังไม่มีแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายต่าง ๆ ของภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ได้แก่ การขาดแผนการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม และการขาดความเข้าใจเรื่องความร่วมมือและการเจรจาระหว่างภาคส่วนที่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการเพิ่มการผลิต vRE และยังจำกัดบทบาท vRE ในฐานะพลังงานทางเลือกเพื่อกำจัดคาร์บอนจากภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอีกด้วย
วัตถุประสงค์
องค์กรและหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ของรัฐบาลไทย
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 โดยมุ่งเน้นที่ภาคส่วนผู้ปล่อยคาร์บอนหลักสองภาคส่วน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภาคพลังงานและขนส่ง ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้
- พัฒนาแม่แบบธุรกิจ ข้อบังคับ และนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างภาคส่วนอย่างชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างภาคส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- จัดตั้งห้องทดลองเมือง (city lab) ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค กฎหมายข้อบังคับ และธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ และบูรณาการแผนการยกระดับการดำเนินงาน
- ให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบเงินลงทุนแรกเริ่ม (seed funding) เป็นต้น และการสนับสนุนด้านมาตรการพัฒนาศักยภาพของผู้จัดการกองทุนและผู้ที่มีโอกาสได้รับทุน
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
- Agora Energiewende (Agora Energy)
- Agora Transport Transformation gGmbH (Agora Transport)
- Fraunhofer Cluster of Excellence Integrated Energy Systems CINES
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)
- วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGTech) มหาวิทยาลัยนเรศวร
- สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม พ.ศ. 2565 – ธันวาคม พ.ศ. 2569