“โครงการพัฒนาขีดความสามารถนี้เป็นโอกาสดีที่หน่วยงานภาครัฐ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และประชาชนในชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฝึกอบรมนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจของผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ให้สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องในการบริหารทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง” นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อภาคส่วนน้ำของไทยอย่างมาก เช่น น้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ไม่มีน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ และน้ำก็ไม่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลต่อผู้ใช้น้ำ ชุมชน ธุรกิจ และระบบนิเวศ ดังนั้นแนวทางการจัดการที่เป็นระบบและการบูรณาการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การจัดการทรัพยากรน้ำจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำและความสามารถในการปรับตัวใน22 ลุ่มน้ำของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ โครงการด้านน้ำ แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Water) และ สทนช. จึงร่วมกันจัด “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (IWRM) และการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ขึ้น โดยจะดำเนินการทั้งหมด 5 ระยะในระหว่างปีพ.ศ. 2563 – 2564 โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งส่วนกลางและจากพื้นที่นำร่องของโครงการใน 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำสะแกกรังเข้าร่วม
โครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 – 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 ท่านจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และภาคประชาชนในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่างการฝึกอบรม ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ รวมถึงประโยชน์ของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศ กิจกรรมกลุ่มและข้อเสนอเชิงเทคนิคต่างๆ ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ทำความรู้จักกับแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความเข้าใจในแนวทางการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายในการพัฒนาแผนแม่บทลุ่มน้ำให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวถือเป็นแผนด้านกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ
โครงการพัฒนาขีดความสามารถฯ ระยะที่ 2 จะมีเนื้อหาด้านเทคนิคที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อใช้ในการวางแผนมาตรการปรับตัวและแนวทางดำเนินงาน เช่น การประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบแบบห่วงโซ่ และองค์ประกอบหลักของมาตรการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในระหว่างไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2564 นี้