ตัวแทนโครงการ TGC EMC พบ สส. เพื่อรายงานความคืบหน้าและตกลงแนวทางในอนาคต
ตัวแทนโครงการ TGC EMC เข้าพบ สส. เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าของโครงการและกิจกรรมในอนาคต
- ตัวแทนโครงการ TGC EMC เข้าพบตัวแทนกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม(สส.) เพื่อรายงานสถานะปัจจุบันและความคืบหน้าของโครงการ
- ทั้งสองฝ่ายหารือถึงประเด็นในความสนใจของ สส. ที่โครงการฯ สามารถสนับสนุนได้
- การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะพัฒนาความร่วมมือเพื่อที่จะสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยต่อไป
วันที่ 25 และ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 ตัวแทนโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) เข้าพบตัวแทนกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของโครงการ เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการฯ ตามแผนปฏิบัติงานและตกลงแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะถัดไป
โครงการ TGC EMC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โครงการฯ ประกอบไปด้วยกลุ่มงาน 5 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กองทุน Thai Climate Initiative: ThaiCI) การประชุมครั้งนี้มีนายประภาสสิทธิ์ ศิริโพธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก และนางสาวนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สส. เข้าร่วมด้วย
ในการประชุม ตัวแทนโครงการ TGC EMC นำโดย ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา ผู้อำนวยการโครงการ ได้รายงานความคืบหน้าของแต่ละกลุ่มงานและนำเสนอข้อมูลกิจกรรมที่ได้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2566 ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญจากภาครัฐและภาคเอกชน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการตรวจเยี่ยมพื้นที่ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเรื่องกิจกรรมในอนาคตที่วางแผนไว้สำหรับกลุ่มงานต่างๆ เช่น กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) การศึกษาเชิงวิชาการ และการเตรียมการเพื่อจัดตั้งห้องทดลองเมืองหรือ City Lab ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ร่วมประชุมยังได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวโน้มของหัวข้อในความสนใจของ สส. ที่โครงการสามารถให้การสนับสนุนได้ เช่น การพัฒนาแนวทางการตรวจวัด รายงานและทวนสอบ (Measurement, Reporting, and Verification: MRV) สำหรับกิจกรรมโครงการ รวมถึงการศึกษาด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อการจัดซื้อยานพาหนะของรัฐ และการเชื่อมต่อกับโครงข่ายเมืองยั่งยืน (Sustainable City Network) เพื่อการดำเนินกิจกรรมของ City Lab ในกลุ่มงานขนส่ง
การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือในประเด็นสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในหลายประเด็น โดยการสื่อสารที่เปิดกว้างและการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างพันธมิตรโครงการเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการ TGC EMC บรรลุเป้าหมาย และช่วยสนับสนุนประเทศไทยให้เข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ดังที่ตั้งใจ
ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา
ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC
อีเมล: dominika.kalinowska(at)giz.de