ความเป็นมา
ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศที่ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสในปี พ.ศ. 2559 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) สำหรับภาคพลังงาน การขนส่ง ของเสียและอุตสาหกรรม ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ไว้ที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยภาคเกษตรกรรมถูกกำหนดให้เป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ข้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ทั้งในด้านการเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญและเป็นอาหารหลักของคนไทย ตามรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่สอง (Second Biennial update report: BUR) ระบุว่าการทำนาข้าวทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก คิดเป็นประมาณร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมในภาคเกษตรกรรมทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคการผลิตข้าวของประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนงานที่เหมาะสมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแนวทางในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิตข้าวเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเพาะปลูกข้าวที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมและเกิดความยั่งยืน
วัตถุประสงค์
เพื่อประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวยั่งยืน และการพัฒนาระบบตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (MRV) ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตข้าว
แนวทางการดำเนินงาน
- การพัฒนานโยบายระดับประเทศ
- การขับเคลื่อนการดำเนินงานในจังหวัดและท้องถิ่น
- การตรวจวัด รายงานผลและทวนสอบ (MRV และ M&E)
- การขับเคลื่อนและสนับสนุนทางการเงิน
- ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- สนับสนุนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) หน่วยงานประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการเกษตรในการพัฒนาแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ซึ่งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตรได้ลงมติยอมรับแผนปฏิบัติการนี้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
- ยื่นข้อเสนอการพัฒนามาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน (SRP) ของประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่ามาตรฐาน GAP ++ ภายใต้ความร่วมมือกับกรมข้าวและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งมาตรฐานการผลิตข้าวนี้ให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- จัดทำชุดเครื่องมือมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน (SRP) ภาษาไทย ซึ่งได้แก่ มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน (SRP) ภาษาไทย คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ คู่มือสำหรับเกษตรกรผู้นำ การ์ตูนการผลิตข้าวยั่งยืน สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และเพลงพร้อมวีดีโอประกอบเกี่ยวกับข้าวยั่งยืน
- อบรมเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) เรื่องการเก็บตัวอย่างก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว การตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก และการคำนวนค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว โดยใช้ SECTOR Software และติดตั้งเครื่องแก๊สโครมาโตกราฟจำนวน 4 เครื่อง ในศูนย์วิจัยข้าวระดับจังหวัดของกรมการข้าว
สนับสนุนงบประมาณโดย
- กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
- แผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)
ประเทศ
ประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
กรมการข้าว
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม 2561 – ธันวาคม 2565
ข้อมูลเพิ่มเติม
TGCP Agriculture | Sustainable Agrifood System in ASEAN (asean-agrifood.org)