ความเป็นมา
ประเทศไทยมีสัดส่วนเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันสูง คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่การผลิตปาล์มน้ำมันทั้งหมด โดยทั่วไปแล้ว เกษตกรรรายย่อยจะมีข้อจำกัดในด้านองค์ความรู้ในการจัดการสวนปาล์มให้เกิดความยั่งยืน เช่น การใช้ปุ๋ย การใช้ทะลายปาล์มเปล่าหมุนเวียนกลับมาใช้ในสวน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนของการผลิตน้ำมันปาล์ม การไม่สามารถเข้าถึงพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพ และยังรวมไปถึงการขาดเงินทุนในการจัดการสวนให้มีประสิทธิภาพ จากข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศไทยค่อนข้างมีผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งสามารถเห็นได้จากร้อยละของอัตราการสกัดน้ำมันปาล์ม (Oil Extraction Rate :OER) จากโรงสกัดน้ำมันปาล์ม
ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้น้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน RSPO ในปัจจุบันที่เกิดจากเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยนั้นมีประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันให้เกิดวามยั่งยืน ถึงแม้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณืจะมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนตามกรอบแผนพัฒนาแห่งชาติเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ผ่านมาการให้ความรู้และฝึกอบรมให้กับเกษตรกรรายย่อยแบบเข้มข้นจากหน่วยงานภาครัฐนั้นทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดหลายๆ ด้าน เช่น งบประมาณ ขาดแคลนบุคลากรที่จะมาเป็นวิทยากรฝึกอบรม ในส่วนของความพยายามที่จะการลดก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลจากการศึกษามาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสม รวมถึง ความรู้ความเข้าใจในการตรวจวัดและการรายงานการลดก๊าซเรือนกระจกยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้ภาครัฐยังไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางรัฐบาลไทยจึงพยายามมองหาแนวทางการขยายผลที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับความรู้ด้านการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมจำนวนเกษตรกรมากขึ้นในอนาคต เช่น การผ่านการรับรองเชิงพื้นที่ซึ่งยังไม่มีโครงการใดที่เริ่มดำเนินการ
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ประสบความสำเร็จในการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการฯ ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ดังนี้
- ส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย
สร้างวิทยากรการฝึกอบรมที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศเพื่อถ่ายทอดหลักสูตรให้กับเกษตรกร และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยให้มีการปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรฐานน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ (เช่น มาตรฐาน RSPO)
- การพัฒนาความร่วมมือ
สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับบสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศ
- การพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในสวนปาล์ม
ส่งเสริมและสาธิตมาตรการต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้ง พัฒนาระบบสำหรับติดตามและรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่กิดขึ้น
- กรอบแนวคิดเพื่อขยายผล
สนับสนุนและศึกษาแนวทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อกรอบแนวคิดเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนส่งเสริมและขยายผลการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรับรองเชิงพื้นที่หรือ Jurisdictional Approach (เช่น ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ) ในอนาคต
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
ส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย
- กลุ่มเกษตรกรรายย่อยจำนวน 74 กลุ่ม รวมสมาชิกทั้งสินกว่า 3,400 ราย ซึ่งปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพื้นที่มากกว่า 62,500 ไร่ ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ
- การพัฒนา “หลักสูตรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยของไทยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน” (TOPSA) พร้อมสื่อการสอนรูปแบบต่าง ๆ (เช่น ภาพโปสเตอร์ คู่มือฉบับพกพาสำหรับเกษตรกร วีดีโออะนิเมชั่น PowerPoint ที่ใช้สอน) โดยอ้างอิงจากมาตรฐาน RSPO ฉบับเกษตรกรรายย่อยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (หรือ Independent Smallholders Standard 2019) เสร็จสมบูรณ์แล้ว และดำเนินการฝึกอบรมให้กับครูวิทยากรจำนวน 38 ราย วิทยากรเป้าหมาย (จากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่โรงงานสกัด และผู้นำเกษตรกร) จำนวน 250 รายเรียนร้อยแล้ว ขณะนี้ วิทยากรกำลังถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อย 3,400 อย่างต่อเนื่อง
- การพัฒนาแอพพลิเคชั่นการจัดการฐานข้อมูลเกษตรกรดิจิตัล (มีชื่อว่า i-Palm) ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้ โครงการแนะนำให้เกษตรกรรู้จกและส่งเสริมให้ใช้ i-Palm เพื่อช่วย
- บันทึกข้อมูลการจัดการสวนรายแปลงได้สะดวก เพื่อให้รู้ถึงสถานะของตน
- ติดตามประเมินผลการดำเนินงานและจุดที่ควรปรับปรุง
- ช่วยเตรียมความพร้อมในการรับรอง (เช่น Checklist สำหรับการตรวจประเมินภายใน)
- รายงานการปล่อยและการลดก๊าซเรือนกระจก
- ขณะนี้ โครงการกำลังเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดเพื่อพร้อมเข้าสู่การรับรอง RSPO
- โครงการฯ ได้เปิดตัวแคมเปญออนไลน์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างความตระหนักให้กับบุคคลทั่วไปและเกษตรกรรายย่อย พร้อมเรียกร้องให้ร่วมสนับสนุนการดำเนินการด้านการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ขณะนี้ โครงการได้ลงประชาสัมพันธ์เรื่องราวและบทความต่าง ๆ กว่า 130 เรื่องราวบน Facebook page ภายใต้ชื่อ “GIZ Farmers Care Earth” ที่มียอดผู้ติดตามเพจกว่า 2,000 ราย
การพัฒนาความร่วมมือ
- มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทั้งหมด 19 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการและยินดีให้ความร่วมมือในการสนับสนุนเกษตรกรเพื่อสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ (อาทิเช่น รับซื้อทะลายปาล์มจากกลุ่มเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดตามคุณภาพ สนับสนุนค่าสมาชิก RSPO บริการช่องทางพิเศษในการจำหน่ายผลผลิตให้กับทางโรงงาน และสนับสนุนสถานที่หรือสำนักงานสำหรับกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น) ขณะนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยไปแล้ว 9 ฉบับ
การพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในสวนปาล์ม
- การศึกษามาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับสวนปาล์มน้ำมันในประเทศไทยผ่านกระบวนการหารืออย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผลการศึกษาสรุปว่า 5 มาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับสวนปาล์มน้ำมันในประเทศไทย ได้แก่ เก็บเกี่ยวผลปาล์มสุก การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคาระห์ดิน-ใบ การใช้ทะลายปาล์มเปล่าคลุมดิน การปลูกพืช (ตระกูลถั่ว) คลุมดิน และการปลูกพืชร่วมในสวนปาล์ม มาตรการเหล่านี้ได้บรรจุไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรม TOPSA ภายใต้หัวข้อด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไป
- เครื่องมือในการคำนวณสำหรับติดตามและรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมสำหรับใช้งานและได้บรรจุไว้ในแอพพลิเคชั่น i-Palm แล้ว
- จัดทำแปลงสาธิต ฯ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมัน 2 แห่ง และแปลงเกษตรกรต้นแบบ 15 แปลง ในสามจังหวัด เพื่อสาธิตให้เห็นถึงการปฏิบัติตามมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมสำหรับสวนปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกร
กรอบแนวคิดเพื่อขยายผล
- การศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปสู่แนวทางในการรับรองเชิงพื้นที่ หรือ RSPO Jurisdictional Approach ผ่านกระบวนการศึกษาแบบมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชุดการสนทนากลุ่มสนทนา ควยคู่กับการสัมภาษณ์ในเชิงลึกได้เสร็จสิ้นแล้ว ผลการศึกษาชี้ว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความเหมาะสมที่จะนำร่องปฏิบัติแนวทางในการรับรอง RSPO JA เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ดังนั้น จึงได้นำเสนอผลการศึกษาและหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในจังหวัดสุราษฎร์ธานีในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า แม้ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เช่น เกษตรกร โรงสกัดน้ำมันปาล์ม และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น) เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวและต้องการให้ภาครัฐผลักดัน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นก็ไม่สามารถให้คำมั่นและสนับสนุนการปฏิบัติตามแนวทาง RSPO JA ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากยังขาดแผนและนโยบายในระดับประเทศและการจัดสรรงบประมาณมาขับเคลื่อนเรื่องนี้
- ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะถูกนำเสนอและหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศในไตรมาสที่ 4 ต่อไป
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
ไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
- กรมส่งเสริมการเกษตร
- กรมวิชาการเกษตร
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
กันยายน 2561 – 14 กันยายน 2565
รับชมวิดีโอเกี่ยวกับโครงการ
- แนะนำโครงการ
- การประเมินผลกระทบด้านสังคม
- การมีส่วนร่วมของชุมชน การให้ฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้ บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ
- กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกปาล์มน้ำมัน
- GIZ ประเทศไทย กับแนวทางสนับสนุนการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
- What is ‘sustainable palm oil’ and why on earth do we need it?
ข้อมูลเพิ่มเติม
PALM OIL | Sustainable Agrifood System in ASEAN (asean-agrifood.org)