ในปัจจุบัน “ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล” เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่กำลังได้รับความสนใจในทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตร เมื่อโลกหมุนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การเปลี่ยนผ่านนี้นำไปสู่วิวัฒนาการของการใช้สื่อสังคม (Social Media) และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาล ส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคลลดลง การเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมข้อมูลส่วนบุคคลของเราทุกคนกำลังถูกนำไปใช้ ถูกนำไปใช้โดยใคร และใช้อย่างไร” ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังนำกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปบังคับใช้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราทุกคนให้ได้มากที่สุด ซึ่งประเทศไทยกำลังนำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ เพื่อเข้ามาดูแลความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ดังนั้นจะมีระเบียบและข้อบังคับที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) ต้องปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นองค์กร หน่วยงาน หรือบริษัทต่างๆ ที่มีการดำเนินการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องเตรียมความพร้อมและทบทวนแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว ในอนาคต
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (The Personal Data Protection Act 2019) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จากเดิมจะบังคับใช้เต็มฉบับในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แต่ได้มีการเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบออกพระราชกฤษฎีกา ขยายเวลาบังคับใช้ไปอีก 1 ปี โดยจะเริ่มใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ซึ่งพ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการรวบรวมกฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลฉบับแรกๆ ของไทย กำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดสิทธิต่างๆ แก่เจ้าของข้อมูลและกำหนดบทลงโทษ หากองค์กรใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การแลกเปลี่ยนความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม (Thai-German Climate Programme – Agriculture) เล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูล จึงจัดฝึกอบรมออนไลน์เรื่องการคุ้มครองข้อมูล (Data Protection) ให้กับนักวิจัยข้าวไทยและเจ้าหน้าที่กรมการข้าว โดยมีวิทยากรรับเชิญ ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย (ประเทศไทย) (Market Oriented Small Holder Value Chain : MSVC-TH) มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหัวข้อการตีความของการคุ้มครองข้อมูลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และการคุ้มครองข้อมูลในการทำงานร่วมกับเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานด้านข้อมูล
ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกว่า 12 ราย ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแยกประเภทข้อมูลส่วนบุคคลออกจากข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลการทำนา ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักการและความสำคัญของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ และแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของเกษตรกรหรือภาคีเครือข่าย ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติจัดการข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและรัดกุมมากขึ้นในอนาคต
ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย กล่าวว่า “การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่าง GIZ และพันธมิตร จะต้องช่วยกันพิจารณาและดูแลตลอดกระบวนการจัดการข้อมูลต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลให้รัดกุม จะต้องระมัดระวังเทียบเท่ากับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งข้อมูลที่ถูกนำเข้ามาและส่งออกไป ปัจจุบัน GIZ ยึดการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ของประเทศไทย และ General Data Protection Regulation (GDPR) หรือกฎหมายป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลทางสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประเทศต่างๆ กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขัน”
สุดท้ายนี้ ภาคการเกษตรมีการทำงานเชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนบุคคลไม่น้อยไปกว่าภาคส่วนอื่นๆ อาทิ การสัมภาษณ์เกษตรกร การเก็บข้อมูลเพาะปลูก การนำข้อมูลไปประมวลผลวิจัย ตลอดจนการจัดทำระบบฐานข้อมูลของเกษตรกร เพื่อประโยชน์ในการวิจัยในอนาคต ผู้เข้าร่วมนำร่องได้เรียนรู้หลักการและความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และองค์ความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปต่อยอดและนำไปปรับใช้ในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความระมัดระวังในการจัดการข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนได้เป็นอย่างดี