ความเป็นมา
สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนที่มีประชากรอาศัยอยู่ 650 ล้านคน ทั้งนี้ คาดว่ามีประชากรประมาณร้อยละ 40 ของประชากรวัยทำงานทั้งหมดอยู่ในภาคการเกษตร นอกจากนี้รายงานของ Global Climate Risk Index 2020 พบว่า 4 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศเมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
เนื่องจากกิจกรรมในภาคการเกษตรจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยทางสภาพอากาศ เกษตรกรจึงมีความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่รุนแรง และความรุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะมากขึ้น สังเกตได้จากในปีพ.ศ. 2560 มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติของสภาพอากาศที่รุนแรงในอาเซียน และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลมักต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอ และให้ทันเวลาสำหรับการฟื้นฟูภาคการเกษตร ดังนั้น กลไกทางการเงินที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรม
วัตถุประสงค์
- เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขนโยบายสำหรับการส่งเสริมกลไกทางการเงินเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศในระดับอาเซียน
- เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ในภูมิภาคอาเซียนและหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
แนวทางการดำเนินงาน
- การปรับปรุงเงื่อนไขกรอบทางนโยบาย: โครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานภายใต้อาเซียนและประเทศสมาชิก ในการสนับสนุนกระบวนการในการจัดทำกรอบแผนงาน/กลไกการประสานงานร่วมกันของอาเซียนเพื่อให้มีกลไกทางการเงินเพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบด้านภูมิอากาศโดยมุ่งเน้นภาคการเกษตร เช่น การให้การประกันพืชผลเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินเพื่อจัดการผลกระทบดังกล่าว ซึ่งถูกระบุในกรอบความร่วมมือด้านพืชของอาเซียน Strategic Plan of Action on Crops (2021-2025) ซึ่งจะจัดทำในปีพ.ศ. 2563
- การพัฒนาโครงสร้าง และขีดความสามารถในการถ่ายทอดความรู้: โครงการฯ ร่วมกับโครงการ ASEAN Disaster Risk Finance and Insurance Programme (ADRFI) จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาค และระหว่างผู้เชี่ยวชาญภาคการเกษตรและการเงินเกี่ยวกับกลไกทางการเงิน/การประกันภัยความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการจัดหาแนวทางกลไกทางการเงิน และการประกันภัยความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติในอาเซียน นอกจากนี้ จะมีการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ทางการเงิน รวมถึงการประกันภัยทางการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ เพื่อประเมินความรู้ และศักยภาพเพิ่มเติมในระดับประเทศ
- การร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ : โครงการฯ จัดการหารือเพื่อความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายใต้อาเซียน ภาคีในระดับประเทศ และองค์กรด้านการพัฒนาอื่นๆ เกี่ยวกับกลไกการทางการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
ประชาคมอาเซียน (ASEAN) ผ่านสำนักเลขาธิการอาเซียน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม พ.ศ. 2563 – มิถุนายน พ.ศ. 2564