พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก่อให้เกิดขยะที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก อาทิ ถ้วยกาแฟ บรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องอาหารจากการซื้อกลับบ้าน และช้อนส้อมพลาสติก พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นพลาสติกที่ใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในเวลาสั้นๆ แต่กลับกำลังทำร้ายโลกของเราทั้งระบบนิเวศทางบกและทางทะเล เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เราจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งออกสู่ตลาดตั้งแต่แรก
แต่อะไร คือ แนวทางปฏิบัติที่ดีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน? เงื่อนไขของกรอบทางการเมือง กฎหมาย และสังคมที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบของการนำกลับมาใช้ใหม่ได้มีอะไรบ้าง?
ผู้ออกกฎหมาย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่มีบทบาทสำคัญจากองค์กรต่างๆ ได้ร่วมนำเสนอแนวทางและเครื่องมือทางการเมืองเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในภาคธุรกิจการจัดส่งอาหารและการซื้อกลับบ้านในงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ – ขอบเขตการดำเนินการของผู้กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา
ในงานสัมมนาครั้งนี้ ผู้แทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) องค์กรพัฒนาเอกชนของเยอรมัน “Deutsche Umwelthilfe” ที่ให้การช่วยเหลือและคำแนะนำด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากเมืองทือบิงเงิน (Tübingen) ของประเทศเยอรมนี ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับเครื่องมือเชิงนโยบายและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ อาทิ ภาษีบรรจุภัณฑ์ การห้ามใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวไปสู่ระบบบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำได้
นอกเหนือจากการสร้างระบบ “การใช้ซ้ำ” ผู้กำหนดนโยบายสามารถสร้างแรงจูงใจ โดยการออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์จากการจัดส่งอาหารและการซื้อกลับบ้านลงได้อย่างมาก
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เมืองทือบิงเงิน (Tübingen) ซึ่งเป็นเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี ได้กำหนดมาตรการภาษีท้องถิ่นกับบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว เพื่อรับมือกับปริมาณบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวในแต่ละแพ็คเกจต่อมื้ออาหารจะถูกเก็บภาษี 0.50 ยูโร (ประมาณ 20 บาท) และช้อนส้อมอยู่ที่ 0.20ยูโร (ประมาณ 8 บาท)
งานสัมมนาออนไลน์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดการประชุมออนไลน์ (webinar series) โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนในเรื่องการป้องกันและหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวระหว่างผู้กำหนดนโยบายและบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่มีการดำเนินงานด้านระบบ “การใช้ซ้ำ” (reusable systems) เพื่อให้เกิดการลดขยะพลาสติกตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้ ในงานสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือกันถึงปัจจัยความสำเร็จและอุปสรรคความท้าทายสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่