ความเป็นมา
ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของประเทศ นอกเหนือจากการวางแผนพลังงานและการกำหนดเป้าหมายในระยะยาวแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้รับทราบถึงความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาด้านพลังงาน (Energy solutions) อย่างรวดเร็ว เช่น ไฮโดรเจน (H2) และต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศระดับแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจได้สร้างโครงสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนสำหรับดำเนินการศึกษาเบื้องต้นและดำเนินโครงการในพื้นที่นำร่องเพื่อสำรวจการใช้งานไฮโดรเจนสีเขียว (Green hydrogen) ในหลายภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของประเทศไทยและเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาของตลาด ซึ่งการตระหนักรู้นี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมทางด้านทักษะที่เกี่ยวกับการผลิต การเก็บรักษา และการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในประเทศไทยและเยอรมนี เพื่อสร้างกรอบการทำงานที่เอื้อต่อนวัตกรรมและการลงทุนที่จะสนับสนุนการขยายตลาดของไฮโดรเจนสีเขียว และ พลังงานไฟฟ้าสู่ทรัพยากรพลังงาน X หรือPower-to-X (PtX)
วัตถุประสงค์
โครงการ H2Uppp ส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนและ PtX ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาตลาดสำหรับเทคโนโลยีไฮโดรเจนและ PtX โดยโครงการฯ จะดำเนินงานครอบคลุมเรื่องการมอบความรู้และความเชี่ยวชาญทางการตลาดเรื่องไฮโดรเจนสีเขียวให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การระดมเครือข่ายของบริษัทที่เกี่ยวข้อง การให้คำแนะนำในเรื่องการสำรวจตลาดและการเข้าสู่ตลาดจากบริษัทเยอรมนีและยุโรป
เป้าหมายโดยรวมของโครงการฯ คือ การสนับสนุนการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนและ PtX เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาครัฐและภาคเอกชนในภูมิภาค
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการ H2Uppp จะดำเนินงานร่วมกันกับหอการค้าไทย-เยอรมัน (German-Thai Chamber of Commerce – GTCC) โดยสนับสนุนนโยบายและพัฒนาตลาดสำหรับไฮโดรเจนสีเขียวและ Power-to-X ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม การริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และโครงการต่างๆตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และการสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนของประเทศเยอรมนี ซึ่งจะรวมถึงการวิเคราะห์ตลาด ธุรกิจ และการจัดการสัมมนาด้วย
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK)
ประเทศ
ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม พ.ศ. 2565 – มีนาคม พ.ศ. 2567