H2Uppp จัดประชุมไฮโดรเจนสีเขียวและ Power-to-X ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงศักยภาพด้านพลังงานสะอาดระดับภูมิภาค
- GIZ ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) จัดการประชุมหัวข้อไฮโดรเจนสีเขียวและการแปรรูปพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานอื่น (PtX) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ภายในงานมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ยุโรปในฐานะผู้นำด้านไฮโดรเจนสีเขียว เส้นทางสู่การนำไฮโดรเจนสีเขียวมาใช้ในไทย และโครงการในภูมิภาคที่แสดงให้เห็นกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการนำไฮโดรเจนมาใช้
- การประชุมแสดงถึงศักยภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวและ PtX มาใช้งาน
9 ตุลาคม พ.ศ. 2566, กรุงเทพฯ –องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) จัดการประชุมหัวข้อไฮโดรเจนสีเขียวและการแปรรูปพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานอื่น หรือ Power-to-X (PtX) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานประชุมแบบไฮบริดครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ International Hydrogen Ramp-Up (H2Uppp) และเป็นพื้นที่สำหรับการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยีทางเลือกเหล่านี้ในภูมิภาค โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 236 คน
การประชุมเริ่มต้นด้วยการพูดเปิดงานจากตัวแทนหน่วยงานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคุณโยฮันเนส แคร์เนอร์ (Johannes Kerner) ที่ปรึกษาทูตฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ ดร. โรลันด์ ไวน์ (Roland Wein) ผู้อำนวยการบริหารของหอการค้าเยอรมัน-ไทย และคุณจารุกาญจน์ ราษฎร์ศิริ ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการขนส่ง GIZ ประเทศไทย โดยทั้งสามได้ย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนต่อการพัฒนาระบบนิเวศของไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งโครงการ H2Uppp สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเยอรมัน และให้ความสำคัญแก่การสร้างพันธมิตรระหว่างภาคภาครัฐและภาคเอกชนในฐานะหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การนำไฮโดรเจนสีเขียวมาใช้
คุณโยฮันเนส แคร์เนอร์ ที่ปรึกษาทูตฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ กล่าวเปิดงาน
ยุโรปในฐานะผู้นำด้านไฮโดรเจนสีเขียว
คุณอูเว่ ไวเคนไฮน์ (Uwe Weichenhain) ผู้บริหารอาวุโสจากโรลันท์ แบร์เกอร์ (Roland Berger) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวของยุโรปว่ามีการประกาศเปิดตัวโครงการไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติกาลจากการผลักดันนโยบายและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ระบบแรงจูงใจที่ทำให้มีการตั้งเป้าหมายด้านนโยบายเพิ่มขึ้นทั่วยุโรป คุณอูเว่ยังแนะนำบทเรียนที่ได้จากการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนสีเขียวของยุโรปว่า ในระยะสั้นควรให้ความสำคัญกับอุปสงค์ของตลาดในภาคส่วนที่มีความพร้อมทางการเงินและมีความต้องการที่จะลงทุนในไฮโดรเจน และในระยะกลางควรหันไปให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศ
แนวโน้มของไฮโดรเจนในประเทศไทย
คุณสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวถึงบทบาทของไฮโดรเจนที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 โดยคาดการณ์ว่าโอกาสทางการค้าของไฮโดรเจนจะเริ่มเกิดขึ้นในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมในระยะกลางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2573 และไฮโดรเจนจะมีศักยภาพทางการค้าทั้งในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ในระยะยาวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2583 โดยในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระยะนำร่อง โดยมีโครงการไฮโดรเจนสีเขียวจำนวนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการดำเนินงาน เช่น ระบบไฮบริดกังหันลม “Wind Hydrogen Hybrid” ณ เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนั้น คุณสาร์รัฐยังย้ำถึงความสำคัญของแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนและแผนงานด้านนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเติบโตของตลาดต่อไป
คุณสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของไฮโดรเจนในประเทศไทย
คุณธำรงค์ อัมพรรัตน์ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่ สกท. ได้นำมาใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ การยกเว้นอากรนำเข้า และการออกวีซ่าพำนักระยะยาว
การศึกษาเรื่องไฮโดรเจนและ PtX ของ GIZ
ในช่วงถัดมา ดร.พีรพัฒน์ วิทยศรีเจริญ และคุณมัทส์ เดอคอน (Mats de Ronde) ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา ดีเอ็นวี (DNV) ได้นำเสนอผลการศึกษาของโครงการ H2Uppp ในหัวข้อ “สรุปผลชุดการศึกษาเรื่องการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนสีเขียวและการแปรรูปพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานอื่น (Power-to-X หรือ PtX) ในประเทศไทย” ซึ่งเน้นไปที่ศักยภาพของไฮโดรเจนสีเขียวในภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง และให้คำแนะนำในการจัดทำแผนนโยบายสนับสนุนการเติบโตของตลาด
โครงการและกลยุทธ์เกี่ยวกับไฮโดรเจนสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในระดับภูมิภาค คุณนาดีลา ชานี (Nadhilah Shani) จากศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy) อภิปรายปัจจัยสนับสนุนเทคโนโลยีไฮโดรเจนในอาเซียน การพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวระดับภูมิภาคในปัจจุบัน และก้าวที่จำเป็นสำหรับอาเซียนในการนำไฮโดรเจนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการระบุภาคส่วนที่มีความสำคัญ การพัฒนายุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และการเริ่มต้นโครงการนำร่อง
ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลของประเทศไทยทั้งนโยบายระดับชาติและแผนงานที่สนับสนุนการนำไฮโดรเจนสีเขียวมาใช้ในหลาย ๆ ระดับ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนำร่องที่อยู่ในช่วงการปฏิบัติ และกล่าวถึงแนวทางในอนาคตสำหรับประเทศไทยที่ยังต้องมีการศึกษาและโครงการนำร่องเพิ่มเติม
คุณไบรอัน แคเมรอน (Brian Cameron) จากบริษัทด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp) นำเสนอข้อมูลโครงการไฮโดรเจนสีเขียว TGS Tra Vinh ในเวียดนาม ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะยังไม่ได้ออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนสีเขียวโดยเฉพาะ ไฮโดรเจนสีเขียวก็ยังถูกมองว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของเวียดนาม โดยคุณไบรอันเน้นถึงปัจจัยสำคัญในการเติบโตของไฮโดรเจนสีเขียว เช่น ความชัดเจนด้านนโยบาย ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี การพัฒนาโครงการอย่างมีโครงสร้าง และการยอมรับความเสี่ยงของโครงการ
ด้านประเทศอินโดนีเซีย คุณมัทธิว เจอซี (Mathieu Geze) จากบริษัท เอชดีเอฟ เอเนอร์จี (HDF Energy) ของฝรั่งเศสที่ทำงานด้านไฮโดรเจนสีเขียว ได้กล่าวถึงโครงการ HyPower (hydrogen-to-power) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มความมั่นคงของไฟฟ้าระบบกริด ในปัจจุบันอินโดนีเซียมีโครงการด้านไฮโดรเจนถึง 20 โครงการ โดยมีเงินลงทุนรวมมากกว่าสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดร.สตีฟ แกรวิลล์ (Steve Graville) จากบริษัท ลินเด้ เอนจิเนียริ่ง (Linde Engineering) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ลินเด้ลงทุนในสิงคโปร์ โดยเน้นไปที่โครงการบนเกาะจูร่ง (Jurong) ที่บริษัทได้ร่วมพัฒนาระบบผลิตไฮโดรเจนสีเขียวขั้นสูง นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ชาติด้านไฮโดรเจนของสิงคโปร์ได้วางเป้าหมายที่จะมีไฮโดรเจนเพียงพอสำหรับครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานของประเทศภายในปี พ.ศ. 2593
การอภิปรายเรื่องแนวโน้มของไฮโดรเจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การประชุมปิดท้ายด้วยการอภิปรายเรื่องแนวโน้มของไฮโดรเจนและ PtX ในภูมิภาค ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ คุณไบรอัน ดร.สตีฟ คุณอูเว่ และคุณนาดีลา พร้อมด้วย ดร.เนรัญ สุวรรณโชติช่วง ประธานกลุ่มไฮโดรเจน ประเทศไทย (Hydrogen Thailand Club) กล่าวเน้นถึงความสำคัญของการมียุทธศาสตร์ชาติด้านไฮโดรเจนสีเขียวที่จะส่งสัญญาณชัดเจนให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในตลาด และชี้ว่ากรอบด้านข้อบังคับและเป้าหมายเฉพาะของแต่ละภาคส่วนเป็นสิ่งที่จะช่วยผลักดันให้ก้าวไปสู่การนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการศึกษาและศึกษากรณีธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยง การแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคและระดับโลก และการเพิ่มความตระหนักให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับไฮโดรเจนสีเขียวและ PtX ในฐานะพลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต
การอภิปรายเรื่องแนวโน้มของไฮโดรเจนสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การประชุมครั้งนี้เป็นพื้นที่สำหรับการแบ่งปันความรู้และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อที่จะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวและ PtX มาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสนับสนุนให้เกิดพันธมิตรและสร้างแผนงานร่วมกันในภูมิภาคจะช่วยปูทางให้เกิดระบบนิเวศไฮโดรเจนที่สดใสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากภูมิภาคมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันก็จะมีศักยภาพทั้งในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป
ผู้เข้าร่วมการประชุมมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐและเอกชน
โครงการ H2Uppp ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ดำเนินโครงการทั่วโลกโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สำหรับโครงการ H2Uppp ในประเทศไทย มีหอการค้าไทย-เยอรมัน (German-Thai Chamber of Commerce – GTCC) เป็นผู้ดำเนินการร่วม และเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการฯ ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนนโยบายและพัฒนาตลาดสำหรับไฮโดรเจนสีเขียวและ PtX ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม การริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และโครงการต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และการสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนของประเทศเยอรมนี
ทิม นีส์
ผู้จัดการโครงการ H2Uppp
อีเมล:tim.nees(at)giz.de