ความเป็นมา
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การเติบโตของประชากร การก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ความเป็นเมือง ถือเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้เกิดความต้องการในการทำความเย็นที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีในเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นโดยส่วนมาก มีการใช้สารฟลูออริเนเทต หรือ F-gases (อาทิ สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน หรือ HFCs) เป็นสารทำความเย็น ซึ่งมีค่าศักยภาพในการทําให้เกิดโลกร้อน (GWP) ที่สูง เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำร่วมกับการผลิตพลังงานที่การปล่อยคาร์บอนที่เข้มข้นแล้ว ภาคส่วนการปรับอากาศและการทำความเย็น (RAC Sector) ถือเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก โดยในประเทศไทย ภาคส่วนการทำความเย็นดังกล่าว มีความสำคัญทั้งจากมุมมองของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีการทำความเย็น และในปัจจุบันกระบวนการและเทคโนโลยีการทำความเย็นของประเทศมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 และมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 20 ศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนการทำความเย็นสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยหลีกเลี่ยงการใช้สาร HFCs รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรามีเทคโนโลยีทางเลือกแล้ว หลายประเทศก็ยังคงได้รับข้อมูล รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านไปใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความท้าทายด้านมาตรฐานความปลอดภัยและใบประกอบวิชาชีพของช่างเทคนิคอีกด้วย
โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling Initiative) เป็นโครงการระดับโลกที่ส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งเรียกว่า วิธีการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling Approach) เพื่อหลีกเลี่ยงและลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากภาคส่วนการทำความเย็น ซึ่งในปัจจุบันโครงการได้ดำเนินงานมาในระยะที่ 3 แล้วและมีการดำเนินการในประเทศภาคีต่างๆ (ไทย, เวียดนาม, บังคลาเทศ, เคนยา, อูกันดา, โคลอมเบีย และฮอนดูรัส) ซึ่งมุ่งเน้นไปยังการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว และในขณะเดียวกัน โครงการ GCI ระยะที่ 3 นี้ยังมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย (Regional Hub) ซึ่งจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในภูมิภาค
วัตถุประสงค์
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของภาครัฐและภาคเอกชนสู่วิธีการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling Approach) รวมถึงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศและทั่วโลก
แนวทางการดำเนินงาน
ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตอุปกรณ์ที่มีการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ซึ่งใช้สารทำความเย็นธรรมชาติและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานแล้ว นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้กลไกทางการเงินในภาคส่วนการทำความเย็น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้อง และด้วยการสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling Initiative) จะยังคงสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว
กิจกรรมในประเทศไทย จะมุ่งเน้นไปยังการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวของผู้ใช้ปลายทาง รวมถึงจัดตั้งชุมชนการทำความเย็นสีเขียว (Green Cooling Community) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยแล้ว ทางโครงการจะดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- การสาธิต: มุ่งเน้นไปยังการพัฒนาข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลของการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวทั้งในเชิงเทคนิคและทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการสาธิต รวมถึงการระบุโอกาสในการขยายการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว
- ความยั่งยืนของการฝึกอบรม: มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนช่องทางสำหรับการพัฒนาทักษะความสามารถของช่างเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนการทำความเย็น เพื่อทำให้ผู้ใช้ปลายทางมั่นใจได้ถึงความพร้อมขององค์ความรู้และศักยภาพของเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว
- เครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว: มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียวภายในประเทศและภูมิภาค
ในขณะเดียวกัน โครงการฯยังสนับสนุนการดำเนินการของกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น หรือ Cooling Innovation Fund (CIF) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลไกทางการเงินสำหรับนวัตกรรมและการขยายการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการดำเนินโครงการ ประเทศไทยยังจะเป็นผู้นำในการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็นสีเขียวในภูมิภาค
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ประเทศ
ไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม พ.ศ. 2564 – ธันวาคม พ.ศ. 2567