กรุงเทพฯ ประเทศไทย – เมื่อเร็วๆนี้ ผู้แทนจากกระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน แห่งประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานบนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ของประเทศไทย เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยหยิบยกประเด็นการใช้เทคโนโลยี ไฮโดรเจน และโดยเฉพาะบทบาทของไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ให้เป็นทางเลือกด้านพลังงานทดแทน ทั้งนี้ไฮโดรเจนสีเขียวที่คาร์บอนต่ำอาจเป็นทางออกของความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศเยอรมนีและประเทศไทย ทั้งในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน และการขนส่ง
การประชุมหารือในครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างการทำงานระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยกระทรวงพลังงาน และ GIZ ประเทศไทยจะมีการวางหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน โดยมุ่งเน้นหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และไฮโดรเจนสีเขียว” ในปี พ.ศ. 2565 โดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนตุลาคม เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการพลังงานระดับชาติ เป้าหมายหลัก และมาตรการด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมทั้งบทบาทของไฮโดรเจนสีเขียวกับทิศทางการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมของทั้งประเทศไทย และเยอรมนี ในขณะที่การประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในราวเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 เพื่ออภิปรายเชิงลึกและหาข้อสรุปด้านแนวทางนโยบายพลังงาน และการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจของเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
มร.ธาริค เอล ลาบูดี รักษาการหัวหน้าฝ่ายสภาพภูมิอากาศและพลังงาน กระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน (BMWK) กล่าวถึงประเทศเยอรมนีซึ่งดำเนินการด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมาเป็นเวลายาวนาน และเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยระบุว่าทั้งไทยและเยอรมนีต่างเผชิญความท้าทายที่ไม่ต่างกัน เช่น การที่ระบบอุตสาหกรรมยังคงพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและก๊าซอยู่มาก ดังนั้นในการบริหารจัดการด้านพลังงาน เยอรมนีพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จในโครงการด้านพลังงานทดแทน และความสำเร็จจากการเปิดเสรีของตลาดไฟฟ้าและก๊าซ ส่งผลให้เยอรมนีสามารถบรรลุส่วนแบ่งที่สูงของพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าเกือบ 50%
ผู้แทนจากประเทศไทย ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย โดยระบุว่า ตามเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นไว้ในเวทีการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย (Carbon Neutrality) จะเกิดขึ้นภายใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 นั้น ดร.พูลพัฒน์มีความมั่นใจว่าประเทศไทยได้ดำเนินงานในการวางยุทธศาสตร์และลงมือปฏิบัติอย่างยั่งยืน และไฮโดรเจนสีเขียวจะเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับอนาคตของชาติ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องก้าวผ่านความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีและตลาดซึ่งกำลังอยู่ในการพัฒนา และทางด้านเงินทุนสนับสนุนโครงการไฮโดรเจนสีเขียวก็ยังคงมีไม่มากนัก
มร.ซิมงค์ โรลลองก์ ผู้อำนวยการโครงการพลังงาน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวแสดงความชื่นชมต่อการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบายภาคพลังงาน ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน ที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยระหว่างกัน ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้จะมีบทบาบสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนแนวทางการจัดการด้านพลังงานให้กับประเทศไทย “ข้อตกลงทวิภาคี ระหว่างไทยกับเยอรมนี จะช่วยให้ผู้ดูแลนโยบายได้เข้ามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนกัน ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่ทั้งสองประเทศวางแผนไว้”
พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมากเพื่อเป็นพลังงานทดแทนที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย ณ ขณะนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาด้านการใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย
มร. ทิม เนส์ อีเมล:tim.nees(at)giz.de
Data from the following embedded codes are sent to Google Inc. More information in our Privacy Policy.
YouTube
Enable or disable cookies for embedding and playing YouTube videos on our site.
(เปิดหรือปิดคุกกี้สำหรับการฝังและเล่นวิดีโอ YouTube บนเว็บไซต์ของเรา)