สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) ของ GIZ ในการจัดทำแบบฟอร์มควบคุมคุณภาพข้อมูล เพื่อสนับสนุนการรายงานข้อมูลอย่างมีคุณภาพและโปร่งใสในภาคพลังงานและภาคของเสีย
ท่ามกลางความพยายามของประชาคมโลกในการปกป้องสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส และได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2573 และหากได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและการเงิน ประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2573
ประเทศไทยมีหน้าที่ในการส่งรายงานแห่งชาติ (National Communications: NCs) ทุกๆ 4 ปี และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Reports: BURs) ทุกๆ 2 ปี ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งรายงานความโปร่งใสแทนรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567
“ผลจากการดำเนินการจัดการประชุมหารือ และฝึกอบรมเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันของกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยด้านการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบพบว่า การจัดทำแบบฟอร์มประกันและควบคุมคุณภาพข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจัดทำขึ้น เพื่อตอบสนองต่อกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสของประเทศไทย” นายศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานฐานข้อมูลและองค์ความรู้ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) สผ.
“แบบฟอร์มมาตรฐานสำหรับการตรวจสอบคุณภาพข้อมูลกิจกรรมจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูล นอกจากนี้แบบฟอร์มที่จัดทำขึ้น ยังสามารถช่วยพัฒนาการเก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงเทคนิคได้อีกด้วย” คุณเคียร์สเตน ออร์ชูล็อค ที่ปรึกษาแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy)
เพื่อให้การรายงานมีความโปร่งใส ถูกต้อง สมบูรณ์ สม่ำเสมอ และสามารถเปรียบเทียบได้ จึงต้องมีการจัดทำรายงานให้สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานความโปร่งใส เพื่อรับประกันคุณภาพข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก โครงการฯ จึงได้ให้การสนับสนุน สผ. ในการพัฒนาแบบฟอร์มควบคุมคุณภาพข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานการตรวจวัด รายงาน และการทวนสอบในระดับสากล
ภาคพลังงานและภาคของเสียเป็นสองสาขาแรกที่ได้รับเลือกให้พัฒนาแบบฟอร์มดังกล่าวขึ้น เนื่องจากเป็นภาคส่วนมีกระบวนการด้านการตรวจวัด รายงานและทวนสอบที่มีความพร้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมและตรวจสอบคุณภาพข้อมูลในภาคพลังงาน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และในภาคของเสีย คือ กรมควบคุมมลพิษ
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพผ่านแบบฟอร์ม จะมีความเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ข้อมูลมีความพร้อมสามารถนำไปใช้งานได้ เช่น ในภาคของเสีย ข้อมูลปริมาณและองค์ประกอบขยะในพื้นที่ต่างๆ สามารถนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกำจัดขยะและการรีไซเคิลได้ ส่วนภาคพลังงานผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการออกนโยบายได้
สำหรับการพัฒนาแบบฟอร์มควบคุมคุณภาพข้อมูลในภาคขนส่ง ภาคการเกษตร และภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) จะเริ่มดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2563 นี้