“ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นการคำนึงถึงมิติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการวางแผนในระดับพื้นที่ให้เหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง” ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าว
ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ GIZ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดการอบรมเพื่อเรียนรู้แนวทางการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดทั้ง 60 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรในแต่ละจังหวัด
ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของจำนวนวันที่ร้อนขึ้นและอุณหภูมิที่สูงขึ้นในภาคเหนือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ น้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เป็นตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างส่งผลกระทบที่ต่างกัน ในขณะที่ทุกจังหวัดมีแผนพัฒนาจังหวัดเป็นของตัวเอง การที่จะบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อตอบสนองประเด็นที่ในพื้นที่ให้ความสำคัญ ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย
ประเทศไทยได้บรรจุประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 และมีการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานภายในประเทศ โดยได้ผลักดันให้มีการคำนึงถึงประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดทำแผนและการนำไปปฏิบัติจริงทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
เราจะทำอย่างไรให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
คำตอบ คือ การให้ความสำคัญกับบริบทการพัฒนาในพื้นที่ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บุคลากรของแต่ละจังหวัดมีความรู้ความสามารถในการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด โดยมุ่งเน้นการนำไปปฏิบัติได้จริง และสามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยสร้างระบบการจัดทำแผนและการทำงานที่ชัดเจนและยั่งยืน
การฝึกอบรม “แนวทางการบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด” ให้กับบุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องใน 60 จังหวัดนี้ จะแบ่งเป็น 2 หลักสูตรต่อเนื่อง โดยเน้นด้านที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
- การฝึกวิเคราะห์บริบทการพัฒนาของจังหวัดที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคมและ สิ่งแวดล้อม ร่วมกับบริบทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่
- การนำข้อมูลในอดีตและการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตมาใช้ในการกำหนดเป้าหมายของแผนงาน
- การวิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
- การจัดทำแผนงานโครงการ
- การกำหนดงบประมาณในการดำเนินการ
- การติดตามประเมินผล
เนื้อหาของการอบรมอ้างอิงจากคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและท้องถิ่นภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทางโครงการฯ ได้จัดทำขึ้น
หลังจากเสร็จสิ้นการอบรม ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 จะมีการสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามที่ได้รับการอบรมให้กับจังหวัดนำร่อง 5 – 10 จังหวัดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการดำเนินการในระดับจังหวัดไม่ได้วัดจากการมีแผน หากแต่เป็นแนวทางในการดำเนินการที่สะท้อนปัญหาในจังหวัดและนำไปปฏิบัติได้จริง โดยประเด็นปัญหาตามบริบทในพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากการสนับสนุนจากส่วนกลาง