เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลไทย กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย กว่า 100 คน เข้าร่วมการประชุม International Climate Initiative (IKI) Cooperation Meeting เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ความสำเร็จ ความท้าทาย การพัฒนาการนโยบาย และการปูทางไปสู่ความร่วมมือและการผนึกกำลังในอนาคตที่กรุงเทพฯ
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ 9 องค์กร ที่ได้รับทุนจาก BMU ผ่านแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) และหน่วยงานภาครัฐของไทย 16 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมโครงการขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศดังกล่าว เข้าร่วมการประชุมทั้งแบบเข้าร่วมในห้องประชุมและออนไลน์ ซึ่งจัดโดยโครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย หัวข้อการพูดคุยในปีนี้เน้นการดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 บนพื้นฐานของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDCs) แผนปรับตัวแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ในช่วงพิธีเปิดงาน ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า “…ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา สผ. ได้มีความร่วมมือในโครงการทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี และในหลาย ๆ โครงการได้รับการสนับสนุนจาก IKI ซึ่งความร่วมมือของ IKI ในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นแรงผลักดันให้มีความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลไทยก็กำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการจัดลำดับให้เป็นวาระสำคัญระดับประเทศด้วย… ”
ดร. ฟิลิปป์ เบเรนส์ หัวหน้าแผนกแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ของ BMU กล่าวว่า
“ …เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่ประเทศไทยและประเทศเยอรมนี ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากลของ BMU เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความไว้วางใจในความร่วมมือนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกันต่อไป… การระบาดของโควิดนี้สร้างโอกาสหลายด้านให้กับประเทศเยอรมนีและประเทศในความร่วมมือที่จะดำเนินงานร่วมกันและแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน และการฟื้นฟูที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่กระนั้น ผมเชื่อมั่นว่ายังมีการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย…”
มร. สเตฟาน คอนทิอุส กรรมาธิการ วาระการพัฒนา 2030 และหัวหน้าแผนก สหประชาชาติ ความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ ของ BMU กล่าวว่า “ …เราหวังว่าจะได้สานต่อความร่วมมือที่ดีกับประเทศไทย และรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศเยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ…เราหวังว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี สามารถสร้างความแตกต่าง และมุ่งหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญที่เราตั้งไว้สำหรับปี พ.ศ. 2593… และผมขอแจ้งว่ารัฐบาลเยอรมนีได้จัดให้นโยบายสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความสำคัญแรก ๆ ในการทำงานระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก…”
นอกจากนี้ ดร. รวีวรรณ ภูริเดช มร. ยาน แชร์ อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ ดร. อธิพงศ์ หิรัญเรืองโชค ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตามและประเมินผลเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมร. ชเตฟาน คอนทิอุส ยังได้ร่วมเวทีเสวนาในประเด็นสำคัญ ๆ ได้แก่ มาตรการด้านน้ำ ขยะ ป่าไม้ และการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว มาตรการฟื้นฟูของประเทศเยอรมันและยุโรป ผลกระทบจากโควิด-19 ความร่วมมืออาเซียน – เยอรมัน อีกทั้งได้พูดคุยถึงความร่วมมือในอนาคตด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน การขนส่ง และการเกษตร ตลอดจนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีว่าจะดำเนินต่อไป โดยมี มร. ไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
ก่อนการเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุม และหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความท้าทายและการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อการดำเนินโครงการ เช่น ในเรื่องอาหารที่ผลิตเกินความต้องการ การสูญเสียงานในภาคการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และมาตรการในการป้องกันการสูญเสียทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในหลายภาคส่วน ตลอดจนการปล่อยคาร์บอนที่ลดลง เนื่องจากการเดินทางที่น้อยลง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยก็พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่ “ภาวะปกติ” ใหม่ ในช่วงเวลาเช่นนี้